สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย วิทยาลัยเทคนิคนครนายก ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างควบคุมด้วยโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ และ สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 1 โดยมีครู 55 คน จาก 16 สถานศึกษา เข้าร่วมพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพให้พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 1 ณ วิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเร็ว ๆ นี้
เรืออากาศโทสมพรปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีนโยบายให้ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก กลุ่มความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการขับเคลื่อน และยกระดับคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) โดยพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูให้ตรงตามมาตรฐานสากล และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักศึกษา ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ คุณวุฒิวิชาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงาน และมาตรฐานสากล ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่ตอบสนองตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่เรียกว่า S – Curve ครูผู้สอนเป็นคลังปัญญาให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ โดยผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานอาชีพ หรือ มาตรฐานฝีมือแรงงาน จะทำให้สถานประกอบการสามารถกำหนดอันดับชั้นของพนักงานได้ พนักงานสามารถทำงานได้ดี ด้วยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และทัศนคติในเชิงช่างอุตสาหกรรม และได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
ด้าน ดร.สุกัญญา สุขสถาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครนายก กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคนครนายก ได้สนองนโยบายของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มุ่งเน้นพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครู ด้วยการส่งเสริมให้ครูเป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 1 ของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีครูเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างควบคุมด้วยโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ ระดับ 1 จำนวน 33 คน และ หลักสูตรผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 1 จำนวน 22 คน รวม 55 คน จากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 16 แห่ง ซึ่งจะได้รับความรู้ในเรื่องอำนาจหน้าที่และจรรยาบรรณของผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และวิธีการทดสอบ ระดับ 1 การเตรียมการทดสอบ การควบคุม และตรวจผลการทดสอบ การตัดสิน และรายงานผลการทดสอบ การวัด และประเมินผล และขั้นตอนการทดสอบ โดยมีวิทยากรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับการประกาศรายชื่อเป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรผู้ทดสอบฝีมือแรงงาน สามารถจัดการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 1 ให้กับนักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ ผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ทำให้นักศึกษามีโอกาสเข้าทำงาน และได้รับค่าตอบแทนตามมาตรฐานฝีมือที่มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคต