เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดัน มทร.ธัญบุรี ออกสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรอรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อส่งร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ… ไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในลำดับต่อไป ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมที่จะออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับขอรัฐนั้น มหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ….ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอแนะ จนขณะนี้มีความสมบูรณ์แบบเป็นอย่างมาก เป็นพระราชบัญญัติที่ตอบรับต่อการที่จะผลักดันให้ มทร.ธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หลังจาก มทร.ธัญบุรี ออกสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว เชื่อว่าทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร จะได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะการดำเนินการของ มทร.ธัญบุรี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จะมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เคยทำให้การดำเนินงานไม่สะดวก ไม่สอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ก็จะถูกปรับปรุงแก้ไขใหม่ ซึ่ง มทร.ธัญบุรี ได้มีการศึกษารายละเอียดการออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จากมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ที่ได้ดำเนินการออกไปก่อนหน้านี้ มาใช้เป็นต้นแบบ ทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น ซึ่งทำให้ มทร.ธัญบุรี สามารถที่จะมุ่งเน้นไปสู่ความเป็นเลิศในศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชี่ยวชาญ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ การออกนอกระบบจะทำให้งานวิจัย การสร้างนวัตกรรม นำมาขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น เป็นโอกาสที่ดีและเป็นความท้าทายก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัย ทำให้การทำงานมีเป้าหมาย และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ ที่สำคัญทำให้เกิดการใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนา มทร.ธัญบุรี ในอนาคต