“ลดทอนการเกิดกลิ่นลงได้ เมื่อผ้าเปื้อนอุจจาระ เปิดก้นถุงทิ้งอุจจาระทิ้งได้ โดยถุงลักษณะนี้ยังไม่มีในท้องตลาด และสามารถถอดซักได้ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนีย์ หทัยวลีวงศ์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เจ้าของผลงานถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียมทางหน้าท้อง (The colostomy bag covers) บอกถึงคุณสมบัติของผลงาน
ผศ.สุนีย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติทางการแพทย์ของไทยในปัจจุบัน พบว่า มะเร็งลำไส้และทวารหนัก กลายเป็นโรคที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของคนไทย ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ทะลุ หรือ มีการติดเชื้อ มีความจำเป็นที่ต้องเอาลำไส้มาเปิดที่หน้าท้อง เพื่อระบายอุจจาระออกบริเวณช่องเปิดของลำไส้ใหญ่ แทนการขับถ่ายปกติ หรือที่เรียกว่า “ทวารเทียม” ผู้ป่วยจะมีถุงขับถ่ายทางหน้าท้องใช้เป็นที่รองรับของเสีย ลักษณะโปร่งใส ทำให้เห็นของเสียภายใน และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เมื่อถุงรองรับอุจจาระเต็ม จะเกิดแก๊ส ทำให้ถุงพองลม ผู้ป่วยจำเป็นต้องเปิดก้นถุงรองรับอุจจาระ เพื่อถ่ายของเสียภายในถุงออก ส่งผลให้ผู้ที่มีทวารเทียมส่วนใหญ่เกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้ชีวิตตามปกติ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดนำนวัตกรรมการต้านทานต่อแบคทีเรีย และคุณสมบัติการสะท้อนน้ำในผ้า มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ การออกแบบถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียม เพื่อให้ผู้ที่ต้องใช้ถุงขับถ่ายทางหน้าท้อง สามารถใช้งานได้ดีขึ้น และต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ถุงดังกล่าว ถูกออกแบบและผลิตจากผ้าที่มีคุณสมบัติต้านทานแบคทีเรียและการสะท้อนน้ำ ลดทอนการเกิดกลิ่นลงได้ เมื่อผ้าเปื้อนอุจจาระ สามารถถอดซักได้ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ที่สำคัญอำนวยความสะดวกผู้ใช้ทวารเทียมเปิดก้นถุงทิ้งอุจจาระได้ โดยถุงลักษณะนี้ยังไม่มีในท้องตลาด
ปัจจุบัน ถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียมทางหน้าท้อง อยู่ในระหว่างการทดลองจัดจำหน่ายโดย บริษัท เครฟเวอร์อินเทค จำกัด ผู้สนใจถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียมทางหน้าท้อง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เครฟเวอร์อินเทค จำกัด โทร. 034-963-189 และ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร. 02-549-3450