เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และพิธีมอบโล่และเกียรติบัตร โครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีผู้บริหารระดับสูง และ ผู้บริหารสถานศึกษา เข้าร่วมพิธี ณ วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จังหวัดชลบุรี
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางการศึกษา จึงจัดตั้ง ศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา และ ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาในระดับภาค พร้อมทั้งจัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษจังหวัด เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการขยายโอกาสทางการอาชีวศึกษาให้เข้าถึงกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้ครอบคลุม ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม โดยในปี 2566 อาชีวศึกษามีผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น จากปี 2564 และ 2565 อีกทั้งขับเคลื่อนดำเนินงานส่งเสริมการฝึกอาชีพระยะสั้น สำหรับผู้เรียนและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ตลอดปี 2566 เป็นจำนวนกว่า 1,000 คน และได้ขับเคลื่อนงานทางด้านวิชาการ จัดทำมาตรฐานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา คู่มือการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค รวมทั้งได้จัดทำระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ ว่าด้วยการจัดการอาชีวศึกษา และฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 7 กันยายน 2566 พร้อมประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษา สำหรับคนพิการ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา และรายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอาชีวศึกษาด้วย
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา สอศ. ได้ลดช่องว่างของการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ส่งต่อให้ผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ให้มีทักษะอาชีพ มีงานทำ เข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างภาคภูมิ และ ผลงานเชิงประจักษ์ที่ทุกสถานศึกษาได้นำมาจัดแสดงในโอกาสนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังทำมือ สาธิตและแสดงผลงานของผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทางด้านร่างกาย โดย ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคเหนือ 2 (วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่) การพยากรณ์ด้วยไพ่ยิปซี จากผู้เรียนที่มีความจำเป็นพิเศษทางด้านการมองเห็น และ การนวดแผนไทย จากผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทางด้านการได้ยิน โดย ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคตะวันออก (วิทยาลัยเทคนิคบางแสน) และ ผลงานชุดทดลอง เรื่องงานโซล่าเซลล์ และ การประกอบแบตเตอรี่ ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 (วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่เรียนจบหลักสูตรและได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว จึงเป็นคำตอบที่เด่นชัดว่า อาชีวศึกษา เป็นการศึกษาที่สร้างโอกาส เข้าถึงทุกกลุ่มประเภทความต้องการจำเป็นพิเศษ มีความยืดหยุ่นสอดคล้องต่อการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
พร้อมกันนี้ ได้มอบโล่ให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค จำนวน 10 แห่ง และ เกียรติบัตรให้กับสถานศึกษาที่พัฒนาอาชีพระยะสั้น (Up Skill, Re Skill) ให้กับผู้เรียนและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จำนวน 31 แห่ง