ม.ขอนแก่น มอบ นวัตกรรมต้นแบบผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ภายใต้แนวคิดของเสียเป็นศูนย์ ช่วยชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย และพึ่งพาตนเองได้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งมอบนวัตกรรม “ต้นแบบการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน” แก่ เทศบาลตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ช่วยชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย และใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือ ภายใต้แนวคิดของเสียเป็นศูนย์ได้อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง นักวิจัยคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คณะ เดินทางไปส่งมอบนวัตกรรม ภายใต้โครงการทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและวิสาหกิจ “ต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน” ให้แก่ เทศบาลตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายสุรชัย พลทะอินทร์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ พร้อมด้วย นายทองไสย์ ไชยบุตรดี รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ และ ผู้นำชุมชน เป็นผู้แทนในการรับมอบนวัตกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า วันนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาส่งมอบ “ต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน” อย่างเป็นทางการ แก่ เทศบาลตำบลบ้านผือ หลังจากได้ลงพื้นที่มาศึกษาดูงาน และติดตั้งเครื่องให้ชุมชนได้ทดลองใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ภายใต้โครงการทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและวิสาหกิจ

“ต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือนนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง และหวังว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์เป็นวงกว้างในอนาคตต่อไป”

ด้าน นายสุรชัย พลทะอินทร์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ กล่าวต่อว่า เทศบาลตำบลบ้านผือ รู้สึกขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ เทศบาลตำบลบ้านผือ จะใช้ต้นแบบนวัตกรรมนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชน/ครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางด้านพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้มในครัวเรือน และการใช้ประโยชน์จากกากตะกอนที่เหลือจากการหมัก รวมทั้งจะได้นำไปพิจารณาต่อยอดการใช้ประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง นักวิจัยคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นแบบการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน ประกอบด้วย ตัวถังหมัก สำหรับเติมมูลวัว มูลกระบือ ซึ่งภายในถังหมักจะมีใบกวนผสมมูลสัตว์อยู่ด้านใน เพื่อให้มูลสัตว์ภายในถังหมักเกิดการผสมได้ดี และก่อให้เกิดแก๊ส โดยตัวแกนหมุนใบผสมนี้ ทางทีมวิจัยได้นำแผงโซลาเซลล์มาช่วยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าไฟของชุมชนด้วย

สำหรับแก๊สชีวภาพที่ได้จากถังหมัก จะผ่านตัวกรองชีวภาพ โดยมีผงเหล็กออกไซด์เป็นตัวดูดซับแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ  “แก๊สไข่เน่า” ทำให้แก๊สที่ผลิตไปให้ชุมชนใช้งาน ไม่มีกลิ่นเหม็นหลงเหลืออยู่ ก่อนเข้าถุงเก็บแก๊สที่มีการต่อท่อไปยังเตาในครัว เพื่อใช้ในการประกอบอาหารทดแทนแก๊สหุงต้ม

เมื่อชุมชนต้องการใช้งานก็มีวิธีง่าย ๆ เพียงแค่นำมูลวัว หรือ มูลกระบือเทลงไปในถังหมัก แล้วรอประมาณ 1 คืน เพื่อให้เกิดกระบวนการหมัก และผลิตแก๊ส เช้าวันถัดมาก็จะสามารถเปิดถุงแก๊ส เพื่อให้แก๊สไหลไปกับท่อที่ฝังอยู่ใต้ดินเข้าไปในเตาไฟที่ครัว และใช้งานได้ทันที เหมือนแก๊สหุงต้มทั่วไป ส่วนกากตะกอนที่ได้จากระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์จากถังหมัก ก็สามารถถ่ายออกจากถังหมัก แล้วนำไปเป็นปุ๋ยรดน้ำต้นไม้ หรือ นำไปทำให้แห้ง ก่อนจะอัดเป็นถ่านอัดแท่งได้

“ผลงานชิ้นนี้เป็นความภูมิใจของนักวิจัยที่ได้นำนวัตกรรมมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และให้ทุกคนได้เห็นประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน และพึ่งพาตนเองได้”

ทั้งนี้ ในอนาคตหวังว่า จะสามารถต่อยอดไปใช้ได้กับทั้งโรงเรียน หรือ วัด เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์เป็นวงกว้าง ลดค่าใช้จ่าย และใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือ ภายใต้แนวคิดของเสียเป็นศูนย์ ได้อย่างแท้จริง

ทางด้าน นางรุจิกาญจน์ พลตรีนิษฐากุล หรือ ป้าถนอม อายุ 50 ปี ชาวบ้านในชุมชนเทศบาลตำบลบ้านผือ กล่าวว่า ปกติเลี้ยงกระบือ 9 ตัว ทำให้ในแต่ละวันมีมูลมาก แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ บางครั้งก็นำไปทิ้ง นำไปกองรวมกันไว้ หรือ นำไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้บ้าง เมื่อมีเครื่องต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือนเข้ามา ได้ลองใช้งานมาประมาณ 7 เดือน พบว่า ใช้งานง่าย ทำกับข้าว นึ่งข้าวได้สบาย

“มูลกระบือ 1 ถัง ใช้ทำกับข้าวได้ถึง 3 มื้อ ในบ้านอยู่กัน 2 คน ปกติซื้อแก๊สถัง LPG ที่ใช้หุงต้มทั่วไป 1 ถัง ถังละ 473 บาท ใช้ได้ 2 เดือน ตอนนี้ประหยัดไป 3 ถัง คิดเป็นเงินกว่า 1,000 บาท รู้สึกดีใจมาก ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำนวัตกรรมนี้เข้ามาให้ได้ใช้แบบนี้”

RANDOM

วธ. เดินหน้าจัดกิจกรรม “ขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร” ปี 2 ออนทัวร์สู่สถานศึกษา 4 ภูมิภาค สร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันสื่อและภัยคุกคาม ตั้งเป้าขยายเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมครอบคลุมทั่วประเทศ

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!