เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยลงนามร่วมกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำโดย ผศ.อุดร นามเสน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสร้างกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันวิชาการ องค์กรชุมชน และองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567-พ.ศ. 2570) ที่ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ ต.พะวง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา
โดยวัตถุประสงของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ของ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) และ กำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน ให้ครอบคลุมรายละเอียดตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) การร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) และ กำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามใบสมัครของยูเนสโก รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ กำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกัน ให้ครอบคลุมตามแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) ภายใต้ความร่วมมือนี้ได้ตกลงขอบเขตการทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ อพท. และ มหาวิทยาลัย จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดแผนงาน และ โครงการตามแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ ภายใต้งบประมาณที่แต่ละฝ่ายได้รับจัดสรร และภารกิจของหน่วยงาย โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา และ บุคลากร มาร่วมดำเนินงานในแต่ละโครงการ ที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ หรือ พื้นที่เป้าหมายของ อพท. ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกัน นอกจากนั้นยังตกลงร่วมกันที่จะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนรายละเอียดการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้บริบทและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 อำเภอ ของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี โดยมีเป้าหมายยกระดับเมืองที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และ ส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำไปสู่การเสนอเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories ต่อไป