“ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ” ปราชญ์ฯ ต้นแบบสัมมาชีพ คืนวิถี ‘สีย้อมธรรมชาติ’

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
“ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ”  นวัตกรชุมชนหนุ่มไฟแรงจากจังหวัดอุดรธานี ผู้คว้ารางวัลมากมายจากฐานความรู้ และประสบการณ์คิดค้นสีจากธรรมชาติ ล่าสุดกับรางวัล “ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” ของมูลนิธิสัมมาชีพ ด้วยผลงาน “นวัตกรรมสีย้อมจากธรรมชาติ” 
.
การคิดค้นของเขา นอกจากจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการสิ่งทอ นำสู่การตื่นตัวย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ การช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะลดสารเคมีในการย้อม ลดน้ำเสีย ช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกต้นไม้ที่ให้สีย้อม ทั้งยังเป็นการประยุกต์ภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์วัตถุดิบจากพืช และของเหลือใช้ภาคเกษตร
.
“ก่อคเณศ” ยังมีส่วนเข้าไปฟื้นอัตลักษณ์ชุมชนด้านการทอผ้า การฟื้นฟูศิลปะลวดลายต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็พัฒนาหัตถกรรมชุมชนด้วยศิลปะร่วมสมัย เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการสัมมาชีพ ด้านอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ นำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
.
“ผมดีใจและภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะเป็นรางวัลที่คัดสรรคนเก่งจากทั่วประเทศ และตัวเองมีโอกาสเป็นหนึ่งในสี่ท่านที่ได้รับการคัดสรรเป็นปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจกับความทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ไปกับการทำงานเพื่อชุมชน พอได้รางวัลนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกว่า ต้องทำให้ดีมากกว่าเดิมอีก” เจ้าตัวเผย
.
นวัตกรรมที่โดดเด่นของ “ก่อคเณศ”  ผู้ร่วมก่อตั้ง ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม และ ปราชญ์นวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติ จาก กรมหม่อนไหม อาทิ
.
.
“นวัตกรรมการจัดการเรื่องครามธรรมชาติ” จากการนำต้นครามมาทำสีย้อมธรรมชาติ และคิดค้นเทคนิคการก่อหม้อคราม (การเตรียมเนื้อครามให้พร้อมที่จะนำผ้า หรือ ด้ายมาย้อม) ร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติ ยังทำให้ได้สีย้อมที่มีลักษณะเฉพาะตามทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่
.
เราใช้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้การสร้างกระบวนการจัดการวัตถุดิบ เพื่อนวัตกรรมชุมชน เข้าไปให้ความรู้การทำสีย้อมจากธรรมชาติกับชุมชนในหลายจังหวัด
.
กรณีของคราม ทำให้ชุมชนหันมาปลูกต้นคราม แทนการซื้อครามเพื่อลดต้นทุน และต้นครามเป็นพืชตระกูลถั่ว คล้ายกับ ต้นปอเทือง จึงเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เราให้แนวคิดกับภาครัฐ เอกชน ขยายผลสู่การปลูกครามแปลงใหญ่ในกว่า 20 จังหวัด เกิดรายได้ เกิดการจ้างงานในชุมชน และเมื่อเราเข้าไปให้ความรู้ชาวบ้าน เรื่องการย้อมคราม ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่เนื้อคราม แต่ยังได้เห็นคนกลับมาทอผ้า คืนอัตลักษณ์กลับมาในหลายชุมชน
.
นวัตกรรมโดดเด่นถัดมา คือ การนำฟางข้าวจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ทั่วไป มาทำเป็นสีย้อมธรรมชาติ โดยสามารถพัฒนาเป็นสีได้มากถึง 64 เฉดสี ถือเป็นการยกระดับฟางข้าว ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กลับมามีคุณค่า ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาฟางที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และทำให้ชุมชนกลายเป็นผู้ผลิตสีจากเศษวัสดุทางเกษตร
.
นวัตกรรมดังกล่าว นับเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนแนวทาง BCG (Bio – Circular – Green Economy) และ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม
.
“โดยเมื่อปี 2563 – 2564 ผมได้ไปร่วมพัฒนาการทำสีย้อมจากฟางข้าว กับ โครงการหน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา องค์ความรู้ที่ได้ นอกจากจะใช้ฟางทำสีย้อมเส้นใย ย้อมไหม และย้อมฝ้าย ได้แล้ว ยังนำไปทำเป็นสีสำหรับสกรีนได้ด้วย” 
.
“ปี 2565 พบว่า มีแบรนด์สินค้าโอท็อปหลายสิบราย หันมาผลิตผ้าย้อมสีฟางข้าวเพิ่มขึ้น และ ตั้งแต่ ปี 2564 – ปัจจุบัน ได้เข้าไปให้ความรู้ด้านนี้กับกลุ่มต่าง ๆ 200 กว่ากลุ่ม ทั้งที่เป็นกลุ่มชุมชน และ สถาบันการศึกษา ทำให้ความรู้นี้กระจายออกไปกว้างขวางขึ้น ” 
.
อีกนวัตกรรมสีย้อมจากธรรมชาติที่ “ก่อคเณศ” พัฒนา คือ  “การทำสีย้อมธรรมชาติจากดินทั่วประเทศ” โดยเขาบอกว่า สามารถพัฒนาได้มากกว่า 600 เฉดสี 
.
ที่น่าสนใจ คือ ไม่เฉพาะ “ดินดี” เท่านั้น ที่นำมาทำสีย้อมธรรมชาติ “ดินเสื่อมสภาพ” ก็สามารถนำมาปรับปรุง เพื่อทำสีย้อมได้ และนำไปใช้ได้ ทั้งการย้อมผ้า ย้อมเส้นไหม ย้อมเสื่อกก ทำสีสกรีน แม้แต่การทำสีสำหรับย้อมผม ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากดินได้ 100%
.
.
“เมื่อปี 2560 ผมมีโอกาสถวายงาน กรมสมเด็จพระเทพฯ เรื่อง สีจากแร่และดิน เพื่อปรับสมดุลศักยภาพของผ้าทออีสาน จากนั้นก็พัฒนาองค์ความรู้ ร่วมกับ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา จนถ่ายทอดความรู้ไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 120 กลุ่ม  และในปี 2567 จะมีการถ่ายทอดความรู้สู่เทศบาลต่าง ๆ ราว 40 กลุ่ม” “ก่อคเณศ” เผย
.
เรียกว่า ใบไม้ เปลือกไม้ สมุนไพร ดิน โคลน หญ้าแฝก ฯลฯ กระทั่งน้ำที่ผ่านการย้อม ยังถูก “ก่อคเณศ” นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ สร้างเฉดสีใหม่ ๆ  
.
จากประสบการณ์ทำงานชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมากว่า 24 ปี เป็นทั้งอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม นักวิจัยชุมชนด้านพันธุ์ไม้ในป่าให้สี ของ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก่อนจะมาเปิดร้านสอนศิลปะ (วาดรูป ออกแบบผลิตภัณฑ์ ย้อมผ้า) ที่ตัวเมืองอุดรธานี ขยับสู่การเป็นนวัตกรชุมชน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ใน จ.อุดรธานี เพื่อขยายผลการทำงานเพื่อชุมชนให้มากขึ้น
.
ปัจจุบันเขายังเป็นนักคิด นักออกแบบ นักวิจัย/ที่ปรึกษา และ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านนวัตกรรมสิ่งทอ
.
ประสบการณ์เหล่านี้เป็นการหลอมรวมทั้ง “องค์ความรู้” ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านนวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติ และเมื่อนำมาผสานกับความรู้เดิมด้านศิลปะ ที่เขาจบการศึกษา สาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ จาก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแรงบันดาลใจจากคนในครอบครัว คือ คุณยาย ซึ่งเป็นชาวนครพนม ในการฟื้นอัตลักษณ์ชุมชน ด้วยการย้อมผ้าจากสีย้อมธรรมชาติ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่การทำงานยกระดับหัตถกรรมชุมชน ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
.
“ยายบอกผมว่า ยิ่งย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติมากเท่าไหร่ เราจะได้เห็นต้นไม้ที่เราไม่เคยเห็นกลับมาปลูกอีก ทำให้ทุกครั้งที่ผมสอนชาวบ้านย้อมสีธรรมชาติ ก็จะบอกแม่ ๆ ป้า ๆ แบบนี้”
.
“ก่อคเณศ” ยังบอกอีกด้วยว่า สีย้อมจากธรรมชาติ ยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการจัดการน้ำทิ้งจากสีย้อมเคมี ซึ่งข้อมูลของ กรมพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2560 พบว่า ผู้ประกอบการโอท็อปด้านสิ่งทอและงานทอผ้ากว่า 4 หมื่นกลุ่มทั่วประเทศ มีเพียง 0.4% ที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ นี่คือปัญหาที่เห็น
.
ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนให้ความรู้ในการใช้สีย้อมธรรมชาติจากพืช วัตถุดิบในท้องถิ่น จนถึงปัจจุบันได้กระจายความรู้ให้กับชุมชนไปแล้วกว่า 1,800 กลุ่มในทุกภาคของประเทศ อาทิ จ.ศรีสะเกษ เข้าไปให้ความรู้การนำใบ/ต้นลำดวน ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่น และการนำดินภูเขาไฟมาทำเป็นสีย้อมธรรมชาติ การนำทุเรียนไปทำน้ำด่างสำหรับก่อหม้อคราม และผสมสีอื่น ๆ จากเปลือกทุเรียน
.
จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับ ภาคเอกชน ให้ความรู้ในการปลูกคราม และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สีย้อมเคมี มาใช้สีย้อมธรรมชาติ  จ.อุดรธานี ให้แนวทางกับ กรมพัฒนาชุมชน และพาณิชย์จังหวัด ในการนำสีธรรมชาติไปใช้ และเขียนหลักสูตรให้ กรมพัฒนาชุมชน เรื่อง “การจัดการไม้ให้สี” เพื่อนำไปต่อยอดกระบวนการจัดการโครงการ โคก หนอง นา ใน จ.อุดรธานี ส่วน จ.สุรินทร์ ร่วมกับ มูลนิธิขวัญชุมชน ไปให้ความรู้การย้อมสีฟางข้าว และสกัดสีฟางข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้
.
.
“ในภาคอีสานส่วนใหญ่ ไม่มีโรงย้อมไม้ให้สี หรือ การนำของเหลือทางการเกษตรมาย้อมผ้า ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ ให้แนวคิด ส่งเสริมให้มีโรงย้อมผ้าจากสีธรรมชาติให้เกิดขึ้นในชุมชนต่าง ๆ อย่างน้อย 8 แห่ง ในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เพื่อทำให้เกิดเครือข่ายของ กรมพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนการไม่ใช้สีเคมีในการย้อม ลดมลภาวะพิษในชุมชน” 
.
ทั้งหมดนี้ คือ การถ่ายทอดนวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติ ของ “ก่อคเณศ” สู่การพัฒนาชุมชน คืนอัตลักษณ์ท้องถิ่น วิถีทอผ้า ไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม กระจายความรู้ออกไปสู่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ อย่างไม่สิ้นสุด 

RANDOM

บริหารธุรกิจ มทร.สุวรรณภูมิ เชิญชวนน้อง ๆ ม.ปลาย และ ปวช. ทั่วประเทศ ร่วมแข่งขันผู้ประกอบการนวัตกรรม “Innovator Next Gen” ชิงถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพฯ สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 20 ธ.ค. 67

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!