ก.พ. เปิดรับสมัครสอบชิงทุน ‘ทุนรัฐบาลดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงฯ’ ประจำปี 2567 จำนวน 18 ทุน ผู้สนใจสมัครทางออนไลน์ได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 7 ธ.ค. 66

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ ประจำปี 2567

1. ทุนที่รับสมัครสอบ จำนวน 17 หน่วย รวม 18 ทุน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 (หน่วยที่ 6751001 – 6751016) จำนวน 17 ทุน
– กลุ่มที่ 2 (หน่วยที่ 6751017) จำนวน 1 ทุน

2. กำหนดช่วงเวลาการให้ทุน แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาในชั้นปีสุดท้ายจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ตามโครงสร้างหลักสูตร ทั้งนี้ ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี
ระยะที่ 2 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในหรือต่างประเทศ สำหรับประเทศที่จะให้ไปศึกษากำหนดตามกรอบประเทศและเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด กรณีประสงค์จะไปศึกษา ณ สหรัฐอเมริกา หรือ สหราชอาณาจักร จะต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 20 ปีล่าสุด หรือ ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 20 ปีล่าสุดในสาขาวิชา (By Subject) ที่ผู้รับทุนจะไปศึกษา ซึ่งเป็นการจัดอันดับ โดยสถาบันการจัดอันดับการศึกษาที่ได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานเป็นสากล ทั้งนี้ กรณีประเทศที่จะให้ไปศึกษา นอกเหนือจากที่กำหนด จะต้องเป็นประเทศที่มีสถาบันการศึกษามีความโดดเด่นทางวิชาการในสาขาวิชานั้น โดยภายหลังสำเร็จการศึกษาต้องกลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการเดิมที่ได้รับการบรรจุ

3. ข้อผูกพันในการรับทุน

3.1 เมื่อสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาให้ทุนระยะที่ 1 ผู้ได้รับทุนจะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ ก.พ. กำหนด เป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน
3.2 กรณีผู้ได้รับทุนประสงค์จะเปลี่ยนหน่วยงานปฏิบัติราชการชดใช้ทุน จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ ก.พ. กำหนดมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานชดใช้ทุน และ ก.พ. ให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด
3.3 กรณีที่ผู้ได้รับทุนไม่เข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน ก.พ. นอกจากจะต้องชดใช้เงินทุนที่ได้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น ยังจะต้องชดใช้เงินอีก 2 เท่าของจำนวนเงินทุนดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับอีกด้วย
3.4 ในระหว่างการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนระยะที่ 1 ผู้ได้รับทุนต้องพัฒนาข้อเสนอในการปรับปรุงและพัฒนางาน

4. เงื่อนไขการให้ทุนระยะที่ 2 เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท

4.1 ผู้ได้รับทุนต้องมีผลการศึกษาระดับปริญญาตรีตามเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนด
4.2 ผู้ได้รับทุนต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ ก.พ. กำหนดเป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาการรับทุน โดยกรณีที่ผู้ได้รับทุนจะต้องเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทก่อนครบกำหนดระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในระยะที่ 1 สามารถเดินทางไปศึกษาก่อนครบกำหนดระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนได้ไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากส่วนราชการต้นสังกัด และสอดคล้องเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ ก.พ. กำหนด
4.3 ผู้ได้รับทุนต้องพัฒนาข้อเสนอในการปรับปรุงและพัฒนางาน และได้รับความเห็นชอบจากส่วนราชการ ภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่บรรจุเข้ารับราชการ ทั้งนี้ อาจขยายระยะเวลาได้ โดยต้องเสนอให้ ก.พ. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกรณี ๆ ไป
4.4 ผู้ได้รับทุนต้องมีผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ตั้งแต่ระดับดีมากขึ้นไป หรือมีผลคะแนนการปฏิบัติราชการ ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป ทั้งนี้ นับถึงวันที่ผู้ได้รับทุนเสนอข้อเสนอในการปรับปรุงและพัฒนางาน
4.5 ผู้ได้รับทุนต้องรับทุนระยะที่ 2 เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทตามโครงการที่ส่วนราชการต้นสังกัด และสำนักงาน ก.พ. กำหนด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีงบประมาณ นับตั้งแต่วันที่เริ่มบรรจุเข้ารับราชการ ทั้งนี้ อาจขยายระยะเวลาได้ โดยต้องเสนอให้ ก.พ. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกรณี ๆ ไป ทั้งนี้ ส่วนราชการจะเป็นผู้ประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของผู้ได้รับทุนในการศึกษาต่อ ในหรือต่างประเทศ
4.6 รายละเอียดภารกิจและงานที่จะมอบหมายภายหลังจากสำเร็จการศึกษาสำหรับหน่วยทุนต่าง ๆ

5. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ

5.1 ผู้มีสิทธิสมัครสอบจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
5.1.1 เป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (รายละเอียดตามเอกสารแนบท้าย 3) และเป็นผู้มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กำหนดไว้ในทุนแต่ละหน่วย
5.1.2 เป็นผู้ที่จะศึกษาในชั้นปีสุดท้ายของสถาบันการศึกษาในประเทศในปีการศึกษา 2567  ตามโครงสร้างของหลักสูตรระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาตามที่กำหนดในคุณสมบัติเฉพาะแต่ละหน่วยทุน และต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมรวมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมาในระดับปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 ตามที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยทุนแล้วแต่กรณี และเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว จะต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 แล้วแต่กรณีเช่นกัน (ในระบบการวัดผลที่คิดคะแนนให้ A=4, B=3, C=2, D=1, E หรือ F=0) หรือ ร้อยละ 70 หรือร้อยละ 75 หรือ เทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ และต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร (วันที่ 7 ธันวาคม 2566)

สำหรับทุนกลุ่มที่ 2 ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ (ส่วนภูมิภาค) ผู้มีสิทธิสมัครสอบต้องมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านในภูมิภาคเดียวกับส่วนราชการที่จะไปปฏิบัติงานตามที่หน่วยทุนกำหนด โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับส่วนราชการที่จะไปปฏิบัติงานตามที่หน่วยทุนกำหนด

ผู้สมัครสอบที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมา หรือ ตลอดหลักสูตรการศึกษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต้องมีหนังสือรับรองผลการเรียนจากสถานศึกษามาแสดงว่าเป็นผู้มีผลการเรียนเทียบได้กับผลการเรียนที่กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยทุน หากผู้ใดไม่มีหนังสือรับรองผลการเรียนมาแสดงจะถือว่าขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบครั้งนี้

5.2 เป็นผู้ไม่อยู่ระหว่างการรับทุนที่มีข้อผูกพันในการชดใช้ทุน
5.3 เป็นผู้ที่มีศีลธรรม และความประพฤติดี
5.4 สำหรับภิกษุสามเณร ทางราชการไม่รับสมัครสอบ และไม่อาจให้เข้าสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาลฯ ทั้งนี้ ตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ นว 89/2501 ลงวันที่ 27  มิถุนายน 2501 และตามความในข้อ 5 ของคำสั่งมหาเถรสมาคม ที่ 1/2564 ลงวันที่ 28  กันยายน 2564

6. การรับสมัครสอบ

6.1 ผู้ประสงค์จะสมัครสอบ ดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.
ที่ http://www.ocsc.go.th/scholarship หรือ http://uis.ocsc.go.th พร้อมทั้งสามารถพิมพ์แบบฟอร์มที่ใช้ในการสมัครสอบจากเว็บไซต์ดังกล่าวได้
6.2 กำหนดวันรับสมัครสอบ และวิธีการสมัคร
6.2.1 ผู้ประสงค์จะสมัครสอบได้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม – 7 ธันวาคม 2566 ทางอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตามขั้นตอนดังนี้
(1) เปิดเว็บไซต์ http://uis.ocsc.go.th
(2) กรอกข้อความในใบสมัครให้ถูกต้องและครบถ้วน ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด ระบบจะกำหนดแบบฟอร์มการชำระเงินที่มี QR Code เพื่อให้ ผู้สมัครสอบสามารถสแกนชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” หรือ “เป๋าตัง” ได้ทันที หรือสามารถพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงินลงในกระดาษ ขนาด A4 เพื่อชำระเงินในภายหลัง หรือ หากไม่มีเครื่องพิมพ์ในขณะนั้น ให้บันทึกข้อมูลเก็บไว้ในรูปแบบ File ลงในสื่อบันทึกข้อมูล

ในกรณีที่แบบฟอร์มการชำระเงินสูญหาย หรือ กรอกใบสมัครแล้วแต่ยังไม่ได้พิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน หรือ บันทึกข้อมูล ผู้สมัครสอบสามารถเข้าไปพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน หรือ บันทึกข้อมูลลงในสื่อบันทึกข้อมูลใหม่ได้ แต่จะแก้ไขข้อมูลที่ได้กรอกใบสมัครในครั้งแรกไว้แล้วไม่ได้

6.2.2 การชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ
(1) นำแบบฟอร์มการชำระเงินไปชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม – 8 ธันวาคม 2566 โดยในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการชำระเงิน ผู้สมัครสอบต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม ภายในเวลา 22.00 น. ของวันดังกล่าว
ค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ประกอบด้วย
– ค่าธรรมเนียมสอบ หน่วยละ 100 บาท
– ค่าธรรมเนียมธนาคารรวมค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 30 บาท
ค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบจะไม่จ่ายคืนให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
(2) ผู้สมัครสอบสามารถชำระค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบได้ 3 ช่องทาง คือ
– ช่องทางที่ 1 ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในวันและเวลาทำการของธนาคาร และตามวัน เวลาที่กำหนดในประกาศ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ด้วย) ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในหลักฐานการชำระเงิน หากพบว่าไม่ถูกต้อง ให้รีบติดต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาที่ชำระเงินทันที
– ช่องทางที่ 2 ชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” ตามวัน เวลาที่กำหนดในประกาศ โดยผู้สมัครสอบที่มีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลงทะเบียน (Register) ขอใช้บริการแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” แล้ว สามารถนำรหัส QR Code ไปทำรายการชำระเงิน ผ่านแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงิน (Slip) ไว้เป็นหลักฐานด้วย
– ช่องทางที่ 3 ชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตามวัน เวลาที่กำหนดในประกาศ โดยผู้สมัครสอบที่ได้ลงทะเบียน (Register) ขอใช้บริการแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว สามารถนำรหัส QR Code ไปทำรายการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงิน (Slip) ไว้เป็นหลักฐานด้วย การสมัครสอบจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้สมัครได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบเรียบร้อยแล้ว
6.2.3 ผู้สมัครสอบที่ชำระค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบแล้ว จะได้รับเลขประจำตัวสอบ โดยจะกำหนดเลขประจำตัวสอบตามลำดับของการชำระเงิน ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงินได้ ภายหลังการชำระเงิน 7 วัน
6.2.4 ผู้สมัครสอบสามารถสมัครสอบได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
6.2.5 การสมัครสอบตามขั้นตอนข้างต้น ถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ลงลายมือชื่อ และรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น หากผู้สมัครสอบจงใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

กลุ่มงานบริหารการสอบทุน ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. เลขที่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 02-547-1330 , 02-547-1903 , 02-547-1907 , 02-547-1910 , 02-547-1911 , 02-547-1916 , 02-547-1955

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://shorturl.asia/hA1Pb

อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/tOu09

RANDOM

คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ร่วมประกวดภาพยนตร์สั้น Short Film Contest “พราวไทย : Proud Thai สืบสาน อนุรักษ์ สร้างสรรค์เอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย” ชิงทุนการศึกษา 420,000 บาท สมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ – 8 พ.ค. 67 

เปิดความจริงที่ไทยเล่นเสียว เกือบไม่ชอบธรรมในการรับจัดซีเกมส์…เมื่อคณะรัฐมนตรี ยอมรับการที่ 3 จังหวัดของไทย จะเป็นเจ้าภาพ ก่อนรับธงซีเกมส์มาจัดต่อจากกัมพูชา เพียง 1 วัน เท่านั้น

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล เปิดรับสมัครคัดเลือก “อาจารย์” (กลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ) 9 อัตรา คุณวุฒิ ป.เอก วิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือ สาธารณสุขศาสตร์ หรือ สาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง หมดเขตสมัคร 31 ตุลาคม นี้

NEWS

ตามรอยศาสตร์พระราชา เยือนแหล่งเรียนรู้รักษ์เต่าทะเล และ Green Hotel ต้นแบบโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ จ.พังงา ในโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 51

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!