‘FREEB’ ต้นแบบแอปพลิเคชันตอบโจทย์ความต้องการของคนพิการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและเท่าเทียม ฝีมือนักศึกษา มจธ.

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการอย่างต่อเนื่องโดยที่ผ่านมา มีการจัดประกวดนวัตกรรมและได้ผลงานตอบสนองต่อคนพิการที่หลากหลาย เช่น หัวลากรถวีลแชร์แบบไฮบริด แขนเทียมกลจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แอปพลิเคชันตรวจจับรถโดยสารประจำทางสำหรับคนพิการทางสายตา ตะเกียบวัดความสุกของเนื้อสำหรับคนพิการทางสายตา การพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยส่งเสริมการทำกายภาพบำบัด การควบคุมหุ่นยนต์และแขนกลระยะไกล เป็นต้น และหนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดขึ้น คือ “FREEB แอปพลิเคชันสำหรับคนพิการ”

ด้วยระบบขนส่งมวลชน และระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ และรองรับการใช้ชีวิตของคนพิการในประเทศที่มีสูงถึง 2,240,537 คน หรือ คิดเป็น 3.39% ของประชากรทั้งหมดของประเทศได้มากนัก ทำให้ชีวิตสาธารณะของคนพิการแตกต่างจากคนปกติ โดยเฉพาะความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทาง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “FREEB แอปพลิเคชันสำหรับคนพิการ” นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการประกวดนวัตกรรมเพื่อคนพิการ ประเภทนวัตกรรมสากลเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผลงานของ นายนนธวัฒน์ แก้วมีศรี, นางสาวรินรดา ทองคำนวณ, นายน้ำหนึ่ง อินทสนธิ์ และ นายธาดา พุ่มพวง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

นนธวัฒน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ FREEB ว่า หลังจากได้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ทาง มจธ. จัดให้กับนักศึกษา และรับทราบถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันของคนพิการในหลายด้าน ทั้งเรื่องการเดินทาง การทำธุระ รวมไปถึงการท่องเที่ยว

ไอเดียตั้งต้น คือ การจะทำแอปพลิเคชันที่จะช่วยเรื่องการเดินทาง และเพิ่มความสะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับคนพิการ ซึ่งเมื่อนำเสนอไอเดียนี้ ในช่วงของการอบรม ทางโคงการฯ ได้แนะนำให้พัฒนาต่อเพื่อส่งเข้าประกวดนวัตกรรมเพื่อคนพิการ จึงชักชวนเพื่อนอีก 3 คน ที่มีความสนใจเกี่ยวกับคนพิการเหมือนกันมาร่วมทำงานด้วยกัน”

ด้าน รินรดา กล่าวเสริมว่า ในขั้นตอนของการพัฒนาต้นแบบนั้น เริ่มจากการมีโอกาสได้นำเสนอไอเดียและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนพิการจำนวนหนี่ง ทำให้พบว่า สิ่งที่คนพิการต้องการสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน คือ การเดินทางที่มีค่าโดยสารที่ไม่สูงเกินไป มีคนขับคอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ในการขึ้นลงรถ และมีผู้ช่วยดูแลในเรื่องอื่น ๆ ที่คนพิการ หรือ ผู้สูงอายุ ต้องการ ซึ่งเมื่อไปดูผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด พบว่า ยังไม่มีแอปพลิเคชันที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ครบถ้วน แต่เป็นการช่วยเหลือเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น มีแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการรถแท็กซี่สำหรับคนพิการ แอปพลิเคชันเพื่อเรียกใช้บริการผู้ดูแลสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุได้ แต่ยังไม่มีแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการท่องเที่ยวของคนพิการ ซึ่งหากแอปพลิเคชัน FREEB มีส่วนให้บริการเดินทางรับส่งคนพิการ มีระบบเลือกผู้ดูแลสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ พร้อมมีฟังก์ชันให้บริการด้านการท่องเที่ยวสำหรับคนพิการ รวมทั้ง 3 ส่วนนี้ไว้ด้วยกัน ก็จะเป็นโอกาสแจ้งเกิดของแอปพลิเคชันนี้ได้

น้ำหนึ่ง เล่าต่อว่า เราต้องการให้ FREEB เป็นแอปพลิเคชันที่ลดข้อจำกัด เพื่อให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้สะดวก และตอบโจทย์ความต้องการให้ได้มากที่สุด เหมือนชื่อและโลโก้ที่พวกเราเลือกใช้ ที่มีความอิสระเสรี (FREE) เหมือนนก (B:Bird) ในส่วนระบบการเรียกรถรับส่ง จึงมีการคัดกรองเฉพาะคนขับที่ได้รับการฝึกอบรมเบื้องต้น ในการดูแลผู้มีความต้องการพิเศษมาแล้ว อีกทั้งยังให้ผู้เรียกสามารถเลือกคนขับที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับ ระบบการจ้างผู้ดูแล ที่สามารถเลือกผู้ดูแลได้ด้วยตัวเอง และยังสามารถกำหนดชั่วโมงของการจ้าง แทนที่จะต้องเหมาเป็นรายวัน หรือ จ้างเป็นรายเดือนเพียงอย่างเดียว ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของคนพิการลงได้ และในส่วนของ ระบบบริการด้านการท่องเที่ยว เราได้ออกแบบ FREEB ให้มีข้อมูลของโรงแรมเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design) ซึ่งจะเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจสำหรับการเข้าพักของคนพิการ เมื่อใช้งานร่วมกันทั้ง 3 ระบบ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวสำหรับคนพิการเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นมาก

ทางด้าน ธาดา ผู้รับผิดชอบในการออกแบบ User Interface (UI) และ User Experience (UX) ของ FREEB บอกว่า สิ่งที่ทำให้งานต้นแบบชิ้นนี้ ได้รับรางวัลจากการประกวดครั้งนี้ คือ เราสามารถนำเสนอในสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ของคนพิการได้จริง เพราะคณะกรรมการในการพิจารณา ส่วนใหญ่ ก็คือ คนพิการ นั่นเอง

“คอมเมนท์ส่วนใหญ่ที่เราได้รับ จะเป็นลักษณะของคำแนะนำในสิ่งที่เขาอยากเห็น หรือ อยากให้พัฒนาต่อ เช่น การมีฐานข้อมูล และการหาผู้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยเหลือคนพิการ ทั้งในส่วนของการฝึกอบรมผู้ขับขี่รถรับส่ง การหาเครือข่ายผู้ดูแล และโรงแรมที่มีความพร้อมในการรองรับความต้องการของคนพิการ และ ผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น และเป็นมิตรกับคนพิการและผู้สูงอายุ แต่โดยภาพรวมแล้ว เขาบอกว่า FREEB สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้งานได้ดี”

แม้วันนี้ FREEB ยังต้องรอการการสนับสนุนอีกมาก ทั้งงบประมาณ กำลังคน และโมเดลทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาจากต้นแบบไปสู่แอปพลิเคชันที่คนพิการสามารถใช้งานได้จริง ทั้งในประเทศไทย รวมถึงประเทศที่มีผู้สูงอายุและคนพิการจำนวนมาก อย่าง ประเทศญี่ปุ่น ได้ใช้ในอนาคต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือ ความเข้าอกเข้าใจในคนพิการที่มีมากขึ้นของกลุ่มผู้พัฒนาทั้ง 4 คน

“แค่เรื่องการเดินทางบนทางเท้า ที่เคยมองว่า ไม่น่ามีปัญหากับเขาเท่าไหร่ แต่พอมาสัมผัสจริง ๆ ก็พบว่า มีหลายเรื่องที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเดินทางบนทางเท้าได้ มีทั้งสิ่งกีดขวาง พื้นไม่เรียบ ซึ่งไม่เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตของคนพิการเลย เหมือนว่าการทำงานชิ้นนี้ ทำให้เรามีเลนส์ในการมองอีกแบบเข้ามา ที่ทำให้เข้าอกเข้าใจคนพิการมากขึ้น และต้องการที่จะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้การใช้ชีวิตของคนพิการเท่าเทียมกับคนปกติมากขึ้น แม้อีกนิดก็ยังดี” รลินดา กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

วช. ประกาศรับข้อเสนอโครงการต้นแบบนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์โลก ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมพร้อมใช้หรือพร้อมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ โครงการละไม่เกิน 2 ล้านบาท เปิดรับข้อเสนอโครงการ ตั้งแต่บัดนี้ – 28 ธ.ค. 66

กบข. ชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา บุตรหลานสมาชิก กบข. หรือ ที่สังกัดในสถานศึกษาของสมาชิก ร่วมประกวดภาพวาด หัวข้อ “เกษียณมีสุข” ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 100,000 บาท ส่งผลงานได้ ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 ตุลาคม

วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์ฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ทุนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) เรียนฟรี มีเงินเดือน รับสมัครถึง 13 มี.ค. 66

NEWS

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!