“GoCheck : นวัตกรรมการตรวจวัดสารพันธุกรรมโรคหนองในแท้แบบรู้ผลเร็วใน 15 นาที” คว้ารางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานประดิษฐ์คิดค้น วช. ปี 2567

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และหากเราย้อนไปดูสถิติหลังจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา จะพบว่า หลาย ๆ ประเทศมีตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดย 5 อันดับแรกของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ “โรคหนองใน” (Gonorrhea) ที่มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับที่หนึ่ง

“ GoCheck” (โกเช็ค) ดีเอ็นเอชิพอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการตรวจวัดสารพันธุกรรมโรคหนองในแท้แบบรู้ผลเร็วใน 15 นาที คือ นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้น โดย ดร.อับดุลฮาดี ยะโก๊ะ และ ดร.สุดเขต ไชโย จาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อแก้ปัญหา หรือ pain point ของการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้โดยเฉพาะ จนได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2567

 

“โปรเจกต์นี้เริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิด เราเคยได้มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับคุณหมอที่ดูแลศูนย์กามโรคที่บางรัก และพบปัญหาเรื่องการขาดแคลนเครื่องมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เดิมเครื่องมือที่ใช้ตรวจจะมีขนาดใหญ่ มีราคาสูง และใช้เวลานานในการตรวจ ค่อนข้างที่จะเข้าถึงได้ยาก จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมนี้ครับ” ดร.อับดุลฮาดี กล่าวถึงที่มาของงานนวัตกรรม

ทีมวิจัยได้พัฒนาในส่วนของวิธีการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า โดยเลือกใช้ตัวตรวจวัดชนิด DNA Bio-sensor สำหรับใช้ตรวจวัดสารพันธุกรรมชีวภาพโดยเฉพาะ หลักการ คือ ใช้ดีเอ็นเอที่มีความสามารถในการตรวจจับ มาจับกับดีเอ็นเอของโรคหนองในแท้ที่มีความจำเพาะกัน ร่วมกับ วิธีการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ คือ ใช้ อิเลกทรอนิกส์ชิพ ที่มีลักษณะเป็นแผ่นการ์ดขนาดเล็ก นอกจากนี้ ในส่วนของวิธีการตรวจวัด ทางทีมได้พัฒนากระบวนการให้มีการขยายสัญญาณการตรวจที่กว้างขึ้น และเมื่อขยายสัญญาณได้ดีในระดับหนึ่ง จะช่วยลดระยะเวลาการตรวจวัดลง ด้วยวิธีการขยายสัญญาณ จึงสามารถลดเวลามาได้เหลือเพียง 15 นาที เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้

สำหรับ วิธีการตรวจวัด จะใช้สารดีเอ็นเอ (ตัวอย่างปัสสาวะ) หยดลงไปบริเวณแผงอุปกรณ์ตรวจวัด แล้วเติมน้ำยาลงไปให้ทำปฏิกิริยาภายใน 15 นาที ก่อนนำแผงตรวจไปเสียบเข้ากับตัวดีเอ็นเอชิพ ดร.อับดุลฮาดี อธิบายว่า การทำงานก็จะคล้าย ๆ กับ ชุดตรวจน้ำตาล และใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวติดตาม โดยใช้ลิงก์ NFC เปลี่ยนแปลงสัญญาณที่เกิดขึ้น หากพบ หรือ ไม่พบดีเอ็นเอของโรคหนองในแท้ ก็จะสามารถทราบและติดตามผลได้ทันทีจากสมาร์ทโฟน

“ส่วนตัวรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ทาง วช. เห็นคุณค่าและความสำคัญของงานวิจัยที่ทำอยู่ ปัจจุบัน GoCheck อยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร และตัวชิ้นงานเองยังต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมถึงขยาย know how ที่มีไปยังโรคอื่น ๆ คือ ถ้าเราทราบลำดับที่แน่นอนของสารพันธุกรรมของโรค เราก็สามารถออกแบบ DNA ที่จำเพาะกับสารพันธุกรรมที่ต้องการจะตรวจวัดได้ อย่างเช่น ตอนนี้เรากำลังโฟกัสอยู่ ก็คือ โรคฝีดาษลิง ซึ่งกำลังระบาด และค่อนข้างน่าเป็นห่วง” ดร.อับดุลฮาดี กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

NEWS

ตามรอยศาสตร์พระราชา เยือนแหล่งเรียนรู้รักษ์เต่าทะเล และ Green Hotel ต้นแบบโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ จ.พังงา ในโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 51

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!