ปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้สนับสนุนเงินจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เพื่อดำเนินโครงการวิจัยแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อนำเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ จนเกิด prototype สายรัดข้อมืออัจฉริยะ “กะทิ” ที่เป็นหนึ่งใน Box set ของอุปกรณ์ IoT สำหรับติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุขึ้นมา
“กะทิ” เป็นอุปกรณ์ IoT Health Monitoring ต้นแบบของโครงการฯ ที่สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ มาในรูปแบบสายรัดข้อมืออัจฉริยะ ที่ทำงานแบบเรียลไทม์ โดยมีฟีเจอร์ช่วยในการบริหารจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุ อันได้แก่ การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) การวัดอุณหภูมิร่างกาย การวัดความเข้มข้นของออกซิเจน การนับจำนวนก้าวและระยะทางการเดิน ระบบ Sleep มอนิเตอร์ที่บันทึกการนอนหลับ รวมถึงวัดการเผาผลาญแคลอรี่ แบบ All Day Activity สามารถกันน้ำได้ลึก 1 เมตร ไม่เกิน 30 นาที และมีระบบการยืนยันตัวตนด้วยคิวอาร์โค้ด ในอนาคตสามารถต่อยอดในเรื่องของ Calling feature และ SOS feature ที่จะส่งตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบัน หากเกิดอุบัติเหตุกับผู้สวมใส่ สามารถเชื่อมการทำงานกับเจ้าหน้าที่ที่หน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ “กะทิ” ยังสามารถบันทึกข้อมูลผ่านซิมโทรศัพท์มือถือในเครือข่ายใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถบันทึกลงกล่อง Access Point เพียงแค่เสียบปลั๊กก็สามารถส่งข้อมูลได้เลย โดยไม่ต้องมีการลง Application ทางโทรศัพท์มือถือ และลงทะเบียนผ่านทางอีเมล เพื่อลดความยุ่งยากในขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการใช้งานของผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ ทางโครงการฯยังได้จัดทำ BOX SET ที่มีอุปกรณ์ Medical IoT ต่าง ๆ สามารถวัดค่าสุขภาพต่าง ๆ ที่เป็นแบบ Home Medical Grade ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด และเครื่องวัดความเค็ม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผู้สูงอายุสามารถวัดค่าและส่งข้อมูลด้วยตัวเอง ผ่านกล่องเกตเวย์เชื่อมต่อเครื่องมือแพทย์ในการส่งข้อมูลเข้าระบบ
อุปกรณ์ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาขึ้นจากสถานการณ์จำลองของบริการดิจิทัลบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Things หรือ 5G โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานไม่น้อยกว่า 5 หน่วยงาน อาทิ กทปส., กรมกิจการผู้สูงอายุ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ฯลฯ ผู้สูงอายุได้มีการทดลองใช้ระบบนำร่องดังกล่าวถึง 2,000 ราย และบรรจุเป็นแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดพื้นที่เป้าหมายทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดขอนแก่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสงขลา โดยผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในโครงการไม่น้อยกว่า 80% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการวิจัยแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ