อว. โชว์ศักยภาพ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” พร้อมก้าวสู่ความเป็นเลิศ ยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับ TOP ของโลก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โชว์ศักยภาพความก้าวหน้าของโครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) เตรียมพร้อมสู่การปฏิรูปเต็มรูปแบบในปี 2567 กุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา เพื่อให้ “มหาวิทยาลัย” มีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในปี 2564 – 2566 โดยได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ 5 กลุ่ม มีสถาบันอุดมศึกษาได้รับการคัดเลือก 61 แห่ง รวม 126 โครงการ

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Reinventing University) เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถจัดการศึกษา วิจัย และผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ตามศักยภาพและความถนัด เพื่อเป็นหัวจักรในการพัฒนาประเทศนำไปสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากล และสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยตามสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน เพื่อขยับอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Ranking) ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น โดยใช้กลไกการจัดสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่ม เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละกลุ่ม สามารถสร้างความเป็นเลิศตามความเชี่ยวชาญ ซึ่งทาง อว. จะส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งประสิทธิผลในการสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษาของประเทศ มุ่งไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งใช้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในการเชิญนักวิจัยระดับโลกมาทำงานร่วมกับนักวิจัยไทย เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงระดับโลกเพิ่มขึ้น (กลุ่มที่ 1) มีแพลตฟอร์มที่เพิ่มศักยภาพเร่งการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Business Acceleration Platform) หรือ นวัตกรรมจากงานวิจัยไปสู่การไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (กลุ่มที่ 2 และ กลุ่มที่ 1) และเกิดเครือข่ายการสร้างบัณฑิตและผู้ประกอบการร่วมกัน ผ่านศูนย์อัจฉริยะในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่งในภาคใต้ โดยการใช้ทรัพยากรร่วมกันข้ามมหาวิทยาลัย ในการจัดทำหลักสูตร degree & upskill (กลุ่มที่ 3)

โดยมหาวิทยาลัยไทยมีสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก เพิ่มขึ้น 45 สาขา จาก 64 สาขา ในปี 2020 และเพิ่มขึ้นเป็น 101 สาขา ในปี 2023 มีสาขาที่เด่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 57 ในสาขาเกษตรและป่าไม้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 51-100 ในสาขาปิโตรเลียม มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 99 ในสาขาเภสัชศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยไทยยังมีนักวิจัยที่ได้รับการยกย่องเป็น Top 2% ของโลก โดย Stanford University เพิ่มขึ้น 190 คน จาก 40 คน ในปี 2017 และเพิ่มขึ้นเป็น 230 คน ในปี 2023 ส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ 1 รวมถึงมหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับโลกใน THE Impact Ranking ที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) จำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นถึง 27 แห่ง จาก 4 แห่ง ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 31 แห่ง ในปี 2566 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้สังกัดกลุ่ม ประจำปีงบประมาณ 2565 – 2566 จำนวน 104 แห่ง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก มี 17 แห่ง กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มี 19 แห่ง กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น หรือ ชุมชนอื่น 48 แห่ง กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา มี 2 แห่ง และ กลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ มี 18 แห่ง

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด อว. กล่าวถึงแผนระยะต่อไปของโครงการฯ คือ สนับสนุนกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อน BCG โดยใช้กลไกของสถาบันอุดมศึกษาไทยไปสู่ระดับ Top ของโลก การสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยน Visiting Professor เน้นการทำงานวิจัย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่มาตรฐานในระดับนานาชาติ อันจะนำไปสู่การยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล สามารถขยับอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Ranking) ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาจะต้องถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากร เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีฐานมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของโครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) ที่สร้างผลงานที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญ โดย กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเรื่องการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขั้นสูงของกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้านเกษตรและป่าไม้ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำโครงการ Visiting Professor สาขา Biologics และ Drug Discovery มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำเรื่อง PM 2.5 and other Pollutants Related NCDs from Field-to-Cell-to-Bedside (FCB) มหาวิทยาลัยศิลปากร ขับเคลื่อนบูรณาการศาสตร์และศิลป์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำเรื่องการใช้องค์ความรู้แนวหน้าด้านจุลินทรีย์ต่อการ ผลิตพืช ผลิตสัตว์ อาหาร และสารชีวภาพ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง เปิดให้มีการลงทะเบียนเรียนข้ามหาวิทยาลัย พร้อมทำเรื่องระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงระบบการเรียนการสอนง่ายขึ้นกว่าเดิม นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมให้ระบบได้รับการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกิดหลักสูตรการพัฒนากำลังคนและผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศทางด้านวิชาการเกษตร มทร.อีสาน และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำความเป็นอีสานและเหนือร่วมกันพัฒนาข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ พัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นถิ่น รวมถึงกัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น หรือ ชุมชนอื่น มรภ.มหา สารคาม จัดตั้ง “หมู่บ้านราชภัฏ” ได้กว่า 17 ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง เป็นต้น ส่วนกลุ่ม 4 และ กลุ่ม 5 อยู่ระหว่างติดตามผลการดำเนินงาน

RANDOM

โค้งสุดท้าย! อพวช. เชิญชวนนักวิทย์ นักคิด นักวิจัย ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดภาพทางวิทยาศาสตร์ Image of Science “วิจิตร วิจัย” ประจำปี 2567 ชิงเงินรางวัลรวม 50,000 บาท หมดเขตสมัครและส่งผลงาน 31 ก.ค. นี้

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!