จุฬาฯ เปิดหลักสูตรควบข้ามศาสตร์ 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของไทย ระยะเวลาเรียน 6 ปี เรียนจบรับปริญญาตรี ทันตแพทยศาสตร์ และปริญญาโท วิศวกรรมชีวเวช   

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือ เปิดตัว หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช เรียน 6 ปี ได้รับ 2 ปริญญา ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ที่นิสิตจะได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ร่วมกับ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช 
.
.
ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีด้านบริหารทั่วไปและศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้จำเป็นต้องปรับบทบาทของมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม  ซึ่งในเรื่องหลักสูตร สิ่งที่สำคัญเป็นเรื่องของโครงสร้างหลักสูตรที่จะต้องให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการบริหารหลักสูตรให้มีความคล่องตัว ถ้าทำสองสิ่งนี้ให้สำเร็จ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนรายวิชา หรือ การเรียนการสอนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนทักษะความรู้ที่สนใจ ซึ่งอาจเป็นความรู้ข้ามศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนสามารถทำงานและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพื่อก้าวเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
.
.
ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์” เป็นตัวอย่างแพลตฟอร์มการศึกษารูปแบบใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ เริ่มดำเนินการครั้งแรก ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ในโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา คือ ปริญญาตรี ทันตแพทย์ – ปริญญาโท วิศวกรรมชีวเวช เพื่อขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการศึกษาควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ให้ขยายผลไปยังคณะและนิสิตกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความสนใจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนนำความเข้มแข็งจากภายในของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Growth from within) ต่อยอดไปเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์ต่อสังคม
.
นิสิตสามารถสมัครเรียนหลักสูตรปริญญาโท สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ได้ เมื่อเรียนรายวิชาในหลักสูตรปริญญาตรีทันตแพทย์ ครบ 120 หน่วยกิต หรือ เมื่อเรียนจบชั้นปีที่ 3 ซึ่งทำให้มีเวลาเรียนรู้และวางแผนชีวิต ก่อนสมัครเรียนปริญญาโท โดยจะรับนิสิตเข้าศึกษาในหลักสูตรปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ปีละไม่เกิน10 คน โดยจะมีทุนสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาโทให้นิสิตด้วย
.
.
ทางด้าน ศ.ดร.ทพ.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ที่นิสิตจะได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ร่วมกับ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ภายในระยะเวลาการศึกษา 6 ปี โดยในงานวิจัยของนิสิตจะมุ่งเน้นในการพัฒนาองค์ความรู้และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางวิศวกรรม เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การพิมพ์ 3 มิติด้วยวัสดุชีวภาพ (3D Bioprinting) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ทางทันตแพทยศาสตร์ บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้ จะสามารถเป็นทันตแพทย์ นักวิชาการ นักวิจัยชั้นน้ำ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวช ที่สามารถสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพช่องปากได้ 
.
.
หลักสูตรปริญญาตรีทันตแพทยศาสตร์ (ท.บ.) ควบข้ามระดับข้ามศาสตร์กับ หลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) ถูกออกแบบการจัดการเรียนการสอนรองรับให้นิสิตสามารถเลือกเรียนรายวิชาเสริมองค์ความรู้และสมรรถนะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ตามช่วงชั้นปีที่เหมาะสมในระหว่างศึกษาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ โดยมีคณาจารย์จากทั้งสองคณะที่พร้อมให้คำแนะนำหัวข้อวิจัย และการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นิสิตสามารถสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์และระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด ทั้งนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังพร้อมสนับสนุนทุนการศึกษา การทำวิจัยให้กับนิสิตที่มีศักยภาพ เพื่อผลิตบัณฑิตได้ตามเป้าประสงค์ โดยในเบื้องต้นมีนิสิตที่สนใจจะเรียนต่อในหลักสูตรนี้แล้ว 5 คน ซึ่งเป็นนิสิตที่กำลังเรียนปริญญาตรี สาขาทันตแพทยศาสตร์ ของจุฬาฯ ในอนาคตได้วางเป้าหมายเอาไว้ว่า จะมีนิสิตเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ปีการศึกษาละ 10 คน

RANDOM

สพฐ. เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งวิชาการ ปฏิบัติการ และ ตำแหน่งทั่วไป ปฏิบัติการ รวมจำนวน 68 อัตรา เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 5 – 19 ก.พ. 67

NEWS

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!