“กางเกงช้าง” ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอยู่ในเวลานี้ ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนถึงความเป็นไทย แต่ยังเป็นตัวอย่างของการนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม การผสานความรู้ทางด้านสิ่งทอและการออกแบบ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และสร้างความสำเร็จในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแฟชั่นและนฤมิตศิลป์ ชวนค้นหาความพิเศษของกางเกงช้าง ผ่านเลนส์วิชาการด้านแฟชั่น
ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล
องค์ความรู้สิ่งทอ สู่ Product Line
“กางเกงช้าง” ไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนถึงสัญญะของความเป็นไทย ผ่านลวดลายช้างที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย แต่ยังแสดงถึงการนำภูมิปัญญาของพื้นถิ่นมาผสมผสานกับการออกแบบสมัยใหม่ ใช้ผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับอากาศร้อนของไทย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสบาย และมีสไตล์ มีการพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย ตั้งแต่กางเกงขาสั้น ขายาว จนถึง ขาจั๊ม ช่วยเพิ่มโอกาสในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย รวมถึงการใช้สีสันที่ต่างกัน เช่น แดง เขียว ดำ น้ำเงิน เพื่อสร้างความโดดเด่น และดึงดูดความสนใจ
“การผลิตกางเกงช้าง มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ส่งผลถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากของฝากสู่การเป็นแฟชั่นไอคอนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องมีใส่กันในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่ เดินเที่ยวสบาย ๆ ตามตลาด จนถึง การใส่กางเกงช้างในห้างสรรพสินค้า ถือเป็นเสน่ห์แบบไทย ๆ ที่สวมใส่ได้ ไม่เคอะเขิน”
Thai Trend “กางเกงช้าง” ไวรัลฮิต ไอเท็ม Hot ที่ต้องมี
ความสำเร็จของผู้ผลิตกางเกงช้าง จนกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จ ทั้งนี้ การสนับสนุนจากรัฐในด้านการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาลวดลายและกระบวนการผลิต จะช่วยให้กางเกงช้างมีคุณภาพสูงขึ้น และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การรับรองคุณภาพและการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้กางเกงช้างไม่เพียงแต่เป็นการสร้างงานให้กับชุมชน แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมไทย การเป็น เทรนดี้ (Trendy) ของคนทุกวัย และการเปิดทางให้กางเกงช้างเป็นสินค้าที่มีการตลาดไปยังต่างประเทศได้สำเร็จ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับธุรกิจและวัฒนธรรมไทยให้ก้าวไปอีกขั้น
การพัฒนากางเกงช้างให้เติบโตและยั่งยืน ควรเน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ ใช้วัสดุที่ยั่งยืน และมีคุณภาพ การร่วมมือกับชุมชนในการออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และการตลาดอย่างมีกลยุทธ์ รวมถึงการเจาะตลาดต่างประเทศด้วยการเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมไทยผ่านสินค้า
“การทำให้กางเกงช้างเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่มีความเป็นสากล ควรผสานความเป็นไทยอย่างแท้จริง กับเสน่ห์ที่ดึงดูดใจทั่วโลก การออกแบบควรทำให้เข้ากับทุกช่วงวัย โดยใช้วิธีการผลิตที่ยั่งยืน และเล่าเรื่องราวของมรดกวัฒนธรรมไทย การทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่นจะช่วยรักษาความเป็นต้นฉบับ ในขณะที่ การตลาดแบบสร้างสรรค์จะช่วยนำเสนอแบรนด์ให้กับผู้ซื้อที่กว้างขึ้น ทำให้กางเกงช้างเป็นทางเลือกของไลฟ์สไตล์สำหรับผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่”
พลิกวิกฤตสู่โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทย
จากข้อกังวลในการเข้ามาของทุนจีนในตลาดกางเกงช้างของไทย ทำให้ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งไหลไปยังประเทศจีนนั้น ศ.ดร.พัดชา มองว่าสถานการณ์นี้ไม่ควรถูกมองเป็นวิกฤต แต่เป็นโอกาส เพราะการผลิตที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงความนิยมที่สูงขึ้น ควรมุ่งเน้นการสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่า เพื่อแยกแยะและยกระดับสินค้าไทยในตลาดโลก
“กางเกงช้างได้กลายเป็นหนึ่งในไอเทมแฟชั่นที่สำคัญ โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่ การผลักดันกางเกงช้างจากของฝากสู่การเป็นแฟชั่นไอคอน เป็นตัวอย่างของการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์”
แนะรัฐบาลผลักดันสินค้าวัฒนธรรมสู่ Soft Power
ศ.ดร.พัดชา เสนอว่า รัฐบาลไทยสามารถใช้กางเกงช้างเป็น Soft Power โดยการนำเสนอในกิจกรรมทูตวัฒนธรรม สนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่น โปรโมทในเหตุการณ์แฟชั่นระดับโลก และใช้พื้นที่ดิจิทัลเล่าเรื่องราวความเป็นมา และความยั่งยืนของกางเกงช้าง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทย และสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมทั้งการจัดหาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและจ้างงานคนในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับชุมชน พร้อมขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐและผู้ประกอบการ ทำอย่างไร ที่สามารถต่อยอดให้เกิด Demand เพื่อกำไรเหล่านั้น จะกลับมาช่วยสร้างงานสู่ชุมชน และนักออกแบบรุ่นใหม่
“การที่นักออกแบบรุ่นใหม่ได้รับโจทย์ที่จะพัฒนาสัญญะของประเทศไทย ในแง่ของวิชาการแล้ว การหวงแหนการผลิตกางเกงช้าง เป็นเพียงการสร้างองค์ความรู้ แต่ไม่เกิดมูลค่าในด้านอุตสาหกรรม เมื่อผลิตได้น้อย จะกลายเป็นของสะสม ไม่ใช่การเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อต่างชาติได้ช่วยเรา “กระแทก” เทรนด์ให้กางเกงช้างของไทยเป็นที่โด่งดังแล้ว เรายิ่งต้องคว้าโอกาสนี้เป็นพลังร่วมกันพัฒนาให้เติบโตมั่นคงไปอีก นักออกแบบรุ่นใหม่ควรหันมาต่อยอดตรงนี้ สร้างมูลค่า ในแง่ของลวดลาย identity ให้มีเรื่องราว และช่วยกันทำให้มีความครีเอทีฟมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสและขยายตลาดการใช้สอย ทำให้กางเกงช้างสามารถไปไกลได้อีก”