ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) และ รักษาการหัวหน้าหลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันองค์กรเอกชนกำลังเผชิญปัญหาการลาออกของพนักงานจำนวนมาก และพนักงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กฝึกงานทวิภาคี ในระดับ ปวส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นภายในแต่ละองค์กร พบว่า เด็กกลุ่มนี้ยังอยากทำงาน แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ ผลตอบแทนที่ยังไม่น่าพอใจ วันหยุดที่ไม่สอดคล้องกับเสาร์-อาทิตย์ ทำให้เป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจลาออกเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เมื่อเด็กฝึกงานลาออกพร้อมกันจำนวนมาก องค์กรภาคเอกชนจึงเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ทำให้เกิดช่องว่างทางการตลาด ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลายองค์กรเอกชนจึงทำความร่วมมือกับ CIBA DPU ในการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด โดยที่นักศึกษาสามารถทำงานและเรียนไปพร้อมกันได้
และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษา และสถานประกอบการ CIBA DPU จึงคิดค้นหลักสูตร “นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถทำงานและเรียนไปพร้อมกันได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งรูปแบบการเรียน แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. เรียนแบบ On Site 2. เรียนแบบออนไลน์ (e-learning) และ 3. เรียนแบบ ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) หรือ การสะสมหน่วยการเรียนรู้ เป็นการดำเนินการเพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้เรียนได้นำประสบการณ์การทำงานจากสถานประกอบการที่ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย วัดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ผ่านชุดรายวิชา (Module) โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีโอกาสเชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์การทำงาน สามารถพัฒนาตนเองให้ตรงกับความต้องการตลาด
การวัดผลลัพธ์การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เช่น นักศึกษาทำงานอยู่แผนกจัดซื้อ หัวหน้า หรือ ผู้ดูแลนักศึกษาฝึกงานจะเป็นผู้ร่วมประเมินร่วมกับทางมหาวิทยาลัย และให้เกรดตามระดับผลงานที่เกิดขึ้นจริงในชุดรายวิชาของการจัดซื้อ เป็นต้น ส่วนรายวิชาอื่นนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเก็บหน่วยกิตได้ตลอดเวลาตามที่นักศึกษาสะดวก ตามกรอบเวลา
“รูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่นนี้ ส่งผลให้เด็กเรียนจบเร็วขึ้นกว่าปกติ เช่น ปกตินักศึกษาระดับ ปวส. เรียนต่อระดับปริญญาตรี ใช้เวลาเรียน 2 ปี ถ้าเลือกเรียน บริหารธุรกิจบัณฑิต หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล สามารถเรียนจบเร็วขึ้นภายใน 1.5 ปี และไม่กระทบกับการทำงานประจำด้วย นอกจากนี้ สถานประกอบการหลายแห่งที่ทำ MOU (Memorandum of Understanding) กับทางมหาวิทยาลัย ได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้นักศึกษาทุกคนที่สมัครเรียนในหลักสูตรดังกล่าว พร้อมการันตีการรับเข้าทำงานด้วย” ดร.คุณากร กล่าว
ด้าน ผศ.ชุติธารรัฐ อุตมะสิริเสนี อาจารย์ประจำหลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล และผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรฯ กล่าวเสริมว่า หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล เป็นหลักสูตรที่ประยุกต์ขึ้นมาให้เหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเน้นการเพิ่มทักษะในการใช้งานไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการคิดนวัตกรรมใหม่ที่นำไปใช้ในการทำงานจริง โดยหลักสูตรนี้ได้แบ่งรายวิชาออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 1. กลุ่มรายวิชาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านความเป็นผู้ประกอบการ เช่น การบัญชี การเงิน โลจิสติกส์และการตลาด 2. กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างนวัตกรรม ได้แก่ การเขียนโปรแกรม หรือ การใช้เทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการทำงาน และ 3. กลุ่มรายวิชาที่นำนวัตกรรมที่คิดค้นนำไปเสนอขาย เพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจในองค์กร นอกจากนี้ ในหลักสูตรการเรียนการสอนยังมีการใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ เช่น การใช้ Chat GPT, การเล่นเกมจำลองธุรกิจ และ การใช้ระบบหลังบ้าน ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้มากขึ้น เป็นต้น
การเปิดเรียนหลักสูตร “นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” นับเป็นการสร้างความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน เพื่อเสริมสร้างแรงงานที่มีความสามารถ และสอดคล้องกับธุรกิจในยุคปัจจุบัน มั่นใจว่า หลักสูตรนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลดช่องว่างทางการตลาดในอนาคตได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม หลักสูตรดังกล่าว เปิดรับสมัครเรียนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในระดับปริญญาตรี เทียบโอน ปวส. ภาคพิเศษ สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเรียน สามารถเข้าไปสมัครเรียนได้ที่ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/