สัตวแพทย์ จุฬาฯ ผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp สำเร็จเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วในสุนัข (Mitral Valve Regurgitation) หรือ โรคลิ้นหัวใจไมตรัลเสื่อมในสุนัข (Degenerative Mitral Valve Disease) เป็นโรคหัวใจในสุนัขที่พบได้มากที่สุด ราว 70 – 80 % ส่วนใหญ่พบในสุนัขที่มีอายุมาก โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ขนาดเล็ก และกลาง ซึ่งรักษาโดยการใช้ยาเป็นการรักษาหลัก

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว โดยการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัด โดย อาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ กิจถาวรรัตน์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ทีมสัตวแพทย์อีก 6 ท่าน จากโรงพยาบาลสัตว์มอนสเตอร์แคร์ โรงพยาบาลสัตว์โมทิเว็ท และ โรงพยาบาลสัตว์บางกอกฮาร์ท ซึ่งประสบความสำเร็จในการผ่าตัดสุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วด้วยวิธีดังกล่าวเป็นเคสแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 และ เคสที่สองเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ผลการผ่าตัดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี วิธีการดังกล่าวจะทำให้มีแผลขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ทำให้สุนัขฟื้นตัวเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ หัวใจสุนัขจะปรับสภาพใหม่ ช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต การรักษาด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ Mitral clamp นี้ มีการทำในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เริ่มจากนำมาใช้ผ่าตัดในคน และใช้ในสัตว์ในเวลาต่อมา โดยในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีการรักษาด้วยวิธีนี้มาก่อน

รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ กิจถาวรรัตน์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลอง จุฬาฯ เปิดเผยว่า โรคลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขจะพบเพิ่มขึ้นตามอายุของสุนัขที่มากขึ้น โรคนี้แบ่งออกเป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ และระยะที่แสดงอาการแล้ว สุนัขที่ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ไอ หอบ จนถึงระยะรุนแรง คือ น้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต สุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้เลือดไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างซ้ายขึ้นไปหัวใจห้องบนซ้าย หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดภาวะเลือดไหลย้อนกลับไปที่ปอด เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ วิธีการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัด สามารถทำได้ในสุนัขพันธุ์ที่มีความชุกของโรคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก หรือ ขนาดกลาง เช่น ปอมเมอเรเนียน ชิสุ ชิวาวา ฯลฯ โดยการผ่าตัดเปิดที่ช่องอกสุนัขต้องใช้ทีมงานฝ่ายต่าง ๆ ในการทำงานประสานกัน

เจ้าของสุนัขที่สนใจจะนำสุนัขที่ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่วมารักษาด้วยวิธีการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัด สามารถนำสุนัขมาตรวจว่า สามารถผ่าตัดรักษาด้วยวิธีการนี้ได้หรือไม่ โดยติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หรือที่ โรงพยาบาลสัตว์มอนสเตอร์แคร์ โรงพยาบาลสัตว์โมทิเว็ท และ โรงพยาบาลสัตว์บางกอกฮาร์ท

ในตอนท้าย รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ ฝากคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลและสังเกตอาการสุนัขที่ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งโรคหัวใจ หากพบอาการในเบื้องต้น เช่น สุนัขเหนื่อยง่ายผิดปกติ มีอาการไอ ถ้าตรวจเจอในระยะต้นก่อนที่จะมีอาการน้ำท่วมปอด สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งการให้ยา หรือ จะใช้วิธีการผ่าตัดก็ได้

RANDOM

ไอบ้าประกาศแยกทางกับ IOC ด้วยการสั่งห้ามคนของตนเองร่วม “การจัดการมวยสากลในโอลิมปิกเกมส์ 2024” อย่างเด็ดขาด “ประธานผู้ตัดสินโลกชาวไทย” ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ คิดต่างมุม จึงตัดสินใจอำลาแล้ว

NEWS

รับสมัคร โครงการร่วมประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 25 (Thailand Innovation Awards 2025) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หมดเขตรับสมัคร 5 พฤษภาคม

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!