มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือ เชฟรอน และซีโอฮุน ผนึกกำลังลงนาม MOU ร่วมกับ 10 โรงเรียนแกนนำ เดินหน้าโมเดล “สุขภาพหนึ่งเดียว” สร้างองค์ความรู้รับมือกับโรคระบาด พร้อมตั้งเป้าขยายการเข้าถึงหลักสูตรไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
.
ดร.วิพัฒน์ คุรุจิตธรรม ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโอฮุน เปิดเผยในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ 10 โรงเรียนแกนนำระดับมัธยมศึกษา ภายใต้โครงการ Piloting the One Health Core Competency Course for High School Students ว่า โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ซีโอฮุน และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก เชฟรอน ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรและเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการยับยั้งโรคระบาด ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ที่ต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือจากสหสาขาวิชาชีพ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสภาวะสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน
.
โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ต่อยอดการเรียนรู้ภายใต้หลัก “สุขภาพหนึ่งเดียว” ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2. พัฒนาครูแกนนำ และนักเรียนแกนนำ ผ่านการเรียนรู้แบบออนไลน์ และการฝึกปฏิบัติจริง 3. สร้าง Best Practice ที่เหมาะสม 4. ขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ หน่วยงานระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการหาทางออกให้กับวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ประเทศกำลังเผชิญ
.
ปัจจุบัน ซีโอฮุน ดำเนินการอบรมพัฒนาบุคลากรด้าน “สุขภาพหนึ่งเดียว” มาแล้วกว่า 12 ปี ใน 8 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ครอบคลุมทั้งในระดับนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ รวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ สัตว์ป่า และ สิ่งแวดล้อม รวมแล้วมากกว่า 50,000 ราย
.
.
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการนี้ คือ การออกแบบโมเดลการเรียนการสอน และแพลตฟอร์มด้านการฝึกอบรมที่เข้าถึงง่ายสำหรับครูและนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะวนศาสตร์ และ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
.
“เนื้อหาหลักสูตรจะเป็นการผสมผสานความรู้ และ ทักษะด้าน Hard Skill และ Soft Skill เข้าด้วยกัน ซึ่งจะครอบคลุมความรู้ทางด้านสุขภาพหนึ่งเดียว สมรรถนะหลักทั้ง 7 โมดูล การบูรณาการด้านการดูแลสุขอนามัยเบื้องต้นที่ประยุกต์เข้ากับโรคประจำถิ่น โรคตามฤดูกาล รวมถึงวิธีรับมือโรคระบาดต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายการเข้าถึงหลักสูตรนี้ไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.ลดาวัลย์ กล่าวเสริม
.
สำหรับ 10 โรงเรียน ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนสารวิทยา, โรงเรียนสงวนหญิง, โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์, โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม), โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศศึกษา ซึ่งจากผลการสำรวจเบื้องต้นจาก 10 โรงเรียนแกนนำในภาคกลางที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า โรคจากระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 และโรคไข้เลือดออก ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อการเรียนรู้และสุขภาพของนักเรียน
.
.
ทางด้าน นายภาณุ บุญวัฒโนภาส รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ ‘สร้างเสริมองค์ความรู้สุขภาพหนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ที่เชฟรอนได้ร่วมจัดทำมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้ความรู้แก่ครูระดับอนุบาล และประถมศึกษา โดยโครงการ Piloting the One Health Core Competency Course for High School Students จะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเติมช่องว่างด้าน Soft Skill เกี่ยวกับสุขภาวะให้เด็กและเยาวชนได้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งด้านการรักษาและป้องกันไปเผยแพร่ต่อให้พ่อแม่ เพื่อน และคนใกล้ตัว รับรู้และสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้
.
“การเสริมสร้างองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติภายใต้แนวคิด One Health สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเชฟรอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ควบคู่ไปกับ ภารกิจการจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้นให้กับประเทศ ด้วยความปลอดภัยและเชื่อถือได้มาตลอดกว่า 60 ปี โดยโครงการนี้จะช่วยให้เยาวชนในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถรับมือกับการระบาดของโรคประจำถิ่น โรคจากปัญหาสุขภาวะ สัตว์ ภูมิอากาศ หรือ โรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 ได้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต” นายภาณุ กล่าวทิ้งท้าย
.
.
อนึ่ง เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asia One Health University Network (SEAOHUN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 เป็นเครือข่ายทางด้านวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ภายใต้แนวคิด One Health โดยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษากว่า 100 แห่ง จาก 8 ประเทศอาเซียน และ มีสำนักเลขาธิการ SEAOHUN ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่