อาจารย์วิศวฯ จุฬา เผย ‘โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์’ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นพลังงานสะอาด ช่วยโลกลดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ของประเทศ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันศึกษาให้ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน และรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน การผลิตไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังอาศัยเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นหลัก จึงมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณมาก ดังนั้น การเพิ่มสัดส่วนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ และหนึ่งในพลังงานสำคัญที่จะสามารถใช้ผลิตไฟฟ้า และเป็นพลังงานที่สะอาดปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) นั่นก็คือ พลังงานนิวเคลียร์ ที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ สิ่งแรกที่คนมักจะนึกถึง ก็คือ ภาพของระเบิด ไม่ว่าจากในสงครามหรือจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าในอดีต แต่แท้จริงแล้วการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้านั้น จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในระดับที่สูงมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายอย่างที่หลายคนกังวลได้ และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบัน อย่างเช่น โรงไฟฟ้าขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (small modular reactor, SMR) เป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้ ก็มีระบบป้องกันต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าหลายร้อยเท่า

อีกทั้ง พลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้เชื้อเพลิง คือ แร่ยูเรเนียม ในการผลิตไฟฟ้านั้น ถือเป็นพลังงานสะอาด เพราะระหว่างกระบวนการผลิตจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่สิ่งแวดล้อม แตกต่างจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก และเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างกระทันหัน นอกจากนี้ พลังงานนิวเคลียร์ยังถือเป็นพลังงาน ที่มีความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากเชื้อเพลิง คือ แร่ยูเรเนียม นั้น ค่อนข้างหาได้ง่าย และมีราคาต่ำ แตกต่างจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ราคาผันผวนได้ตามสถานการณ์ของโลก หรือ แสงแดดและลม ซึ่งใช้ได้ในช่วงเวลาเฉพาะในแต่ละวันเท่านั้น มีการศึกษา พบว่า ในเมืองที่มีประชากร 1 ล้านคน จะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 4 พันกิโลกรัมต่อปี เท่านั้น ซึ่งหากเป็นก๊าซธรรมชาตินั้น ต้องใช้มากถึง 6 พันล้านกิโลกรัมต่อปี แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของพลังงานนิวเคลียร์ ที่จะสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยได้

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่ถ้าหากมีการผลักดันทำให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้นั้น จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน และยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้อีกจำนวนมาก ทาง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี SMR โดยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ร่วมกัน เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality สร้างความมั่นคงทางพลังงานและสภาพแวดล้อมที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน

RANDOM

จับตาสมาคมมวยสากลของไทย จะตัดสินใจฝ่าวิกฤติด้วยการยืนข้างใด ระหว่างการเลือกเป็นสาวก “ไอบ้า” ต่อไป หรือ ทิ้งลูกพี่เก่าไปซบองค์กรมวยสากลโลกแห่งใหม่ เพื่อเดินตามทางโอลิมปิกสากล

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!