มจธ. ให้ทุนเรียนต่อป.เอก “ทุนเพชรพระจอมเกล้าดุษฎีบัณฑิต” ปีการศึกษา 2567 รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 17 มิถุนายน 2567

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดตั้งทุนการศึกษาเพชรพระจอมเกล้าดุษฎีบัณฑิต เพื่อจูงใจให้นักศึกษาทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาในระดับปริญญาเอก และเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ หรือ กลุ่มวิจัยที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยที่สูง เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นดุษฎีบัณฑิตคุณภาพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและผลิตผลงานวิจัย หรือ ปฏิบัติงานที่ใช้ความรู้และทักษะขั้นสูงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2567 ได้ประกาศให้ทุนการศึกษา “ทุนเพชรพระจอมเกล้าดุษฎีบัณฑิต ในปีการศึกษา 2567 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ของทุน
1. สนับสนุนการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของนักศึกษาระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัย
2. เสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการศึกษา และการควบคุมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยมหาวิทยาลัย ในการทำงานวิจัยที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และสังคม

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับทุน 
คุณสมบัติทั่วไป
1. เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่ประพฤติตน หรือ เคยประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสีย
2. เป็นผู้ที่พร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยทั้งในด้านวิชาการ สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
3. เป็นผู้ที่สามารถศึกษาให้สำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาการศึกษาสูงสุดของหลักสูตรที่นักศึกษาเข้ารับการศึกษา
4. สามารถเรียนในหลักสูตรเต็มเวลาได้
5. คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
คุณสมบัติด้านการศึกษา
1. ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในระดับปริญญาตรี หรือ
2. มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมในระดับปริญญาตรี ไม่น้อยกว่า 3.25 และ ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ในระดับปริญญาตรี และอยู่ใน 20% แรกของชั้น โดยมีหนังสือรับรองจาก สำนักงานทะเบียนนักศึกษา หรือ
3. มีผลการเรียนระดับปริญญาโท อยู่ในระดับดีมาก โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3.50 หรือ
4. กรณีผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท แผนการศึกษาที่ทำเฉพาะวิทยานิพนธ์เพียงอย่างเดียว ต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือ ระดับนานาชาติ อย่างน้อย 1 ฉบับ หรือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท แผนการศึกษาอื่น ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ถึง 3.50 แต่ไม่ต่ำกว่า 3.25 ต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือ ระดับนานาชาติ อย่างน้อย 1 ฉบับ
5. ผู้สมัครต้องเป็นผู้ที่คาดว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือ ระดับปริญญาโท ในสถาบันอุดมศึกษาที่ สำนักงานกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง ก่อนการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 และจะลงนามในสัญญาได้ต่อเมื่อมีใบรับรองการจบการศึกษา
6. ผู้สมัครต้องไม่มีสถานภาพเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก หรือ ผู้สมัครต้องไม่เคยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาก่อน
7. ผู้สมัครต้องสามารถแสดงออกถึงเหตุผล และความจำเป็น และความรู้ความเข้าใจในระดับที่น่าพอใจในสาขาวิชาที่จะทำวิทยานิพนธ์ โดยการประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ และจากเรียงความที่เขียนด้วยตัวเอง (Statement of Purpose) ความยาวประมาณ 600 คำ
8. ผู้สมัครที่เคยทำวิทยานิพนธ์ หรือ ทำวิจัย หรือ เลือกที่จะทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้กลุ่มวิจัยที่มีผลงานหรือมีศักยภาพที่จะสร้างผลงานที่มีความหมายต่อเศรษฐกิจและสังคม จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
9. ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการศึกษา/ทำงาน และมีเจตคติที่ดี จากอาจารย์ที่ปรึกษาที่เคยควบคุมปริญญานิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ และผู้บังคับบัญชา (ในกรณีที่เคยทำงาน)
10. ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองจากอาจารย์ที่จะรับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการรับทุน
11. ผู้สมัครสามารถส่งเอกสารเพิ่มเติมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัย และด้านวิชาการอื่นเพื่อสนับสนุนได้
12. ผู้สมัครจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบ และรับรองตนเองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามประกาศจริง และจะต้องแสดงหลักฐานในการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน หากเอกสารไม่ครบภายในระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร จะถือว่าขาดคุณสมบัติ ในกรณีที่มีความผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือ คุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศ อันมีผลทำให้ผู้สมัครไม่มีสิทธิสมัครรับทุน ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นถูกตัดสิทธิในการเข้ารับการสอบคัดเลือกตามประกาศนี้ และให้ถือว่าการรับสมัครและการได้เข้ารับการคัดเลือกครั้งนี้ เป็นโมฆะสำหรับผู้นั้น และจะใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆ กับมหาวิทยาลัยไม่ได้ทั้งสิ้น

หากมีการตรวจสอบเอกสาร หรือ คุณสมบัติในภายหลัง ปรากฏว่า ผู้ได้รับทุนรายใดไม่มีคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม หรือ ขาดคุณสมบัติใดคุณสมบัติหนึ่งตามประกาศ ให้ถือว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติในการสมัครรับทุนในครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น และไม่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกทุนการศึกษา และให้ผู้ได้รับทุนนั้นชดใช้เงินทุนการศึกษาคืนแก่มหาวิทยาลัยตามที่กำหนด

อนึ่ง หากมหาวิทยาลัยตรวจสอบแล้ว พบว่า ผู้สมัครรายใดมีเจตนาปลอมแปลงเอกสารและใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น ไม่ว่าทั้งหมด หรือ บางส่วน จะถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
13. คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษา
1. อาจารย์หรือนักวิจัยที่จะรับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา จะต้องสังกัดกลุ่มวิจัย หรือ ศูนย์วิจัยที่มีประวัติผลงานหรือมีศักยภาพที่จะสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมีความหมายต่อเศรษฐกิจและสังคมตามการประเมินของคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยจะแต่งตั้งขึ้น ตลอดจนมีประวัติในการได้รับทุนวิจัยเพื่อการทำงานวิจัยที่ดีและต่อเนื่อง
2. อาจารย์ หรือ นักวิจัยที่จะรับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ต้องมีผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฏใน Quartile 1 หรือ Quartile 2 ของฐานข้อมูล Scopus เมื่อพิจารณาจาก CiteScore ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 5 เรื่อง ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และมีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาระดับปริญญาเอกจนสำเร็จการศึกษา ยกเว้นหลักสูตรที่อยู่ในสาขาศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ,ครุศาสตร์, และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้ปรากฎใน Quartile 1 หรือ Quartile 2 ของ
ฐานข้อมูล Scopus เมื่อพิจารณาจาก CiteScore ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 3 เรื่อง ในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา และมีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาระดับปริญญาเอกจนสำเร็จการศึกษา
3. อาจารย์ หรือ นักวิจัยใหม่ที่ยังไม่มีประวัติผลงานในการคุมวิทยานิพนธ์ สามารถเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้ โดยร่วมกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์และผลงาน แต่ต้องสังกัดกลุ่มวิจัยในมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็ง
4. หากอาจารย์ หรือ นักวิจัยอายุ 57 ปี ขึ้นไป จำเป็นต้องลงนามในเอกสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบในการทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาที่ระบุไว้ในสัญญารับทุน พร้อมเอกสารรับรองจากคณบดี

การสรรหาและพิจารณาให้ทุน การสรรหาจะดำเนินการด้วยวิธีการเชิงรุก (Active Recruitment) ในการพิจารณาทุนกรณีผู้สมัครขอรับทุนที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม หรือ โดดเด่น แต่หากคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่สมบูรณ์ และไม่ได้รับพิจารณาให้ทุน คณะกรรมการจะพิจารณาการให้ทุนอีกครั้งภายใน 1 ปี หลังเข้ามาเป็นนักศึกษา

เงื่อนไขในการรับทุน
1. ผู้ได้รับทุนจะต้องทำสัญญาการรับทุน และสัญญาค้ำประกันให้เรียบร้อย
2. ผู้ได้รับทุนจะได้รับค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือน และค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น ไม่สามารถขยายระยะเวลาได้
3. มหาวิทยาลัยจะพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ได้รับทุนให้รับทุนการศึกษาต่อเนื่องเป็นรายปี โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ได้รับทุนจะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม เมื่อสิ้นปีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.50 สำหรับผู้ได้รับทุนที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่าที่กำหนด หากในภาคการศึกษาต่อมามีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 อาจได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนต่อไปได้
(2) ผู้ได้รับทุนจะต้องแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการทำงานวิจัย และในการดำเนินการตามแผนการศึกษาที่วางไว้ เพื่อให้สามารถสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และในเวลาที่กำหนด โดยต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าทุกภาคการศึกษา และนำแสนอรายงานความก้าวหน้าตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด มิเช่นนั้น อาจไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง
(3) ผู้ได้รับทุนจะต้องเข้าร่วมสัมมนา แลกเปลี่ยนความรู้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาอื่น ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยได้แจ้งให้เข้าร่วม และจะต้องช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านวิชาการ สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ หากผู้ได้รับทุนไม่เข้าร่วมกิจกรรมข้างต้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร มิเช่นนั้น อาจไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง
4. ผู้ได้รับทุนอาจได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาบางส่วนได้ แม้ไม่สำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตร แต่ไม่เกินระยะเวลาการศึกษาสูงสุดของหลักสูตร
5. กรณีผู้ได้รับทุนกระทำผิดวินัยนักศึกษา หรือ เป็นบุคคลที่มหาวิทยาลัยเห็นว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างแรง หรือ เหตุอื่น ๆ อันไม่เหมาะสมที่จะได้รับทุน มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกทุนการศึกษา และให้ผู้ได้รับทุนนั้นชดใช้เงินทุนการศึกษาคืนแก่มหาวิทยาลัยตามที่กำหนด

ผู้ได้รับทุนจะได้รับเงินสนับสนุน ดังนี้
1. ค่าเล่าเรียนตามหลักสูตร (ค่าหน่วยกิต ค่าบำรุงการศึกษา และค่าประกันอุบัติเหตุ) ไม่สามารถขยายระยะเวลารับทุนได้
2. ค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 18,000 บาท ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในแผนการศึกษาของหลักสูตร และเมื่อผู้รับทุนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ผ่าน จะได้รับค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือนเพิ่มเติมอีก 4,000 บาท ในเดือนถัดไป นับจากเดือนที่ได้รับผลการสอบ ซึ่งผู้ได้รับทุนต้องดำเนินการส่งผลสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์แก่กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับผลการสอบดังกล่าว ตามแบบฟอร์มที่กำหนด ทั้งนี้ จะได้รับค่าครองชีพและค่าครองชีพเพิ่มเติมภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น ไม่สามารถขยายระยะเวลารับทุนได้

ทั้งนี้ หากผู้ได้รับทุนแจ้งผลการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์แก่กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาตามวรรคแรก ผู้ได้รับทุนจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เดือนถัดไป นับแต่วันที่กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาได้รับผลสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์จากผู้ได้รับทุนตามแบบฟอร์มที่กำหนด
3. ผู้ได้รับทุนอาจขอรับเงินสนับสนุนความก้าวหน้างานวิจัยเพิ่มเติม หากมีผลงานบทความวิจัย โดยเป็นผู้เขียนชื่อแรก (First Author) และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏใน
(1) ฐานข้อมูล Web of Science และ
(2) Quartile 1 หรือ Quartile 2 ของฐานข้อมูล Scopus เมื่อพิจารณาจาก CiteScore ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ที่ประกาศล่าสุดในวันที่ส่งผลงานวิจัยตีพิมพ์ โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผลงานบทความวิจัยที่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการ (Accept Email/Accept Letter) จากวารสารวิชาการระดับนานาชาติใน Quartile 1 จำนวน 1,500 บาทต่อเดือนต่อ 1 บทความ และใน Quartile 2 จำนวน 500 บาท ต่อเดือนต่อ 1 บทความ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯจะให้เงินสนับสนุนในเดือนถัดไป หลังจากที่ได้ดำเนินการส่งหลักฐานการตอบรับการตีพิมพ์มายังกลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา พร้อมแบบฟอร์มที่กำหนดอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะให้เงินสนับสนุนดังกล่าว ภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น
4. เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยของผู้รับทุนโดยใช้ในภารกิจที่มีความจำเป็น และบรรลุวัตถุประสงค์การทำวิจัยเพื่อสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กรณีแผนการศึกษา 3 ปี ไม่เกิน 150,000 บาท กรณีแผนการศึกษา 4 ปี ไม่เกิน 200,000 บาท และ กรณีแผนการศึกษา 5 ปี ไม่เกิน 250,000 บาท ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
5. ค่าใช้จ่ายกรณีทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ 1 ครั้ง 1 ประเทศ ไม่เกิน 6 เดือน ดังนี้
(1) อัตราค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือนในต่างประเทศเพิ่มเติมจากที่ได้รับอยู่ ในวงเงินไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(2) ค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารชั้นประหยัด ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าประกันการเดินทาง, ค่าประกันสุขภาพ, ค่าประกันอุบัติเหตุ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท

การรับทุนค่าใช้จ่ายกรณีทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศข้างต้นนั้น กรณีผู้ได้รับทุนมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปภายหลังจากครบระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรไปแล้ว ผู้ได้รับทุนจะต้องเสนอแผนการเดินทางและงบประมาณค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยระยะสั้นดังกล่าวต่อผู้ให้ทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตร จึงจะได้รับค่าใช้จ่ายกรณีทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศข้างต้น

ผู้ได้รับทุนจะได้รับค่าใช้จ่ายจากสำนักงานวิจัย นวัตกรรม และพันธมิตร ดังต่อไปนี้
1. ค่าใช้จ่ายอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก หรือ อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม เพื่อเดินทางไปเยี่ยมผู้รับทุนและแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ขณะที่ผู้ได้รับทุนเดินทางไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ 1 ครั้ง ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน
(1) ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าที่พักตามระเบียบมหาวิทยาลัย
(2) ค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารชั้นประหยัด ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าประกันการเดินทาง, ค่าประกันสุขภาพ, ค่าประกันอุบัติเหตุ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท
2. ค่าใช้จ่ายกรณีอาจารย์ที่ปรึกษาจากต่างประเทศเข้ามาติดตามผลงานวิจัยของผู้ได้รับทุน 1 ครั้ง ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยต้องเสนอชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ประวัติ และผลงาน
(1) ค่าตอบแทนอาจารย์ที่ปรึกษา ในอัตราวันละ 7,000 บาท ทั้งนี้ รวมค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าที่พักแล้ว
(2) ค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารชั้นประหยัด ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าประกันการเดินทาง, ค่าประกันสุขภาพ, ค่าประกันอุบัติเหตุ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท

ในกรณีที่ผู้ได้รับทุน ยุติหรือยกเลิกการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือ พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา หรือ ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาภายในกำหนดระยะเวลาสูงสุดของหลักสูตร หรือ ได้รับทุนซ้ำซ้อนกับทุนอื่น ตามที่ระบุในเงื่อนไขของทุนนั้น ๆ ทั้งนี้ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้ได้รับทุนจะต้องชดใช้เงินทุนการศึกษาตามจำนวนที่ได้รับจากมหาวิทยาลัย ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัย หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้ได้รับทุนจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

การรับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้ – 17 มิถุนายน 2567

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-470-8333

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://shorturl.asia/YcwxW

อ้างอิงจาhttps://shorturl.asia/YcwxW

RANDOM

สิโนไทย จัดใหญ่ “งานแนะแนวทุนการศึกษาต่อประเทศจีนจาก 7 มหาวิทยาลัยดัง” พุ่งเป้าโครงการ “ภาษาจีน+ทักษะวิชาชีพ” เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ปิดรับลงทะเบียนร่วมงาน 20 ม.ค.นี้

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!