จุฬาฯ จับมือ สธ. แถลงความสำเร็จโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ทะลุเป้า ช่วยรัฐประหยัดงบ 37 ล้านบาท คืนเวลาราชการ 1.6 แสนชั่วโมง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความสำเร็จของ โครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม หรือ Care D+ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผล ยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณและสุขภาวะ จุฬาฯ เป็นประธานในงานแถลงความสำเร็จในครั้งนี้ โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมงาน
.
จากการดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ในโครงการ Care D+ ระยะเวลา 6 เดือน ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานผลการดำเนินโครงการ พบว่า ประสบความสำเร็จใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) มีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร Care D+ แล้วกว่า 20,000 คน เกินเป้าหมาย 10,000 คน ที่ตั้งไว้ 2) ช่วยประหยัดงบประมาณการฝึกอบรมของภาครัฐได้ถึง 37 ล้านบาท 3) คืนเวลาการทำงานให้แก่ราชการได้มากถึง 160,000 ชั่วโมง และ 4) ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการอบรมได้ถึง 143 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
.
.
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผล ยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณและสุขภาวะ จุฬาฯ กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ Care D+ เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาหลักสูตรและระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการสื่อสารในระบบสาธารณสุขไทย สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติ แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการโดยรวมอีกด้วย ความสำเร็จนี้สามารถเป็นต้นแบบในการนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างกว้างขวาง เมื่อบุคลากรภาครัฐมีทักษะการสื่อสารที่ดี เข้าใจประชาชน ย่อมส่งผลถึงคุณภาพการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น สร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ภาครัฐโดยรวม ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญในการปฏิรูประบบราชการไทยให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
.
ทางด้าน รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมการสื่อสารและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการนี้ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกฝ่ายในความตั้งใจและทุ่มเทร่วมกันพัฒนาหลักสูตร Care D+ จนเป็นหลักสูตรออนไลน์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี และสามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติได้จริง จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งในแง่ของการประหยัดงบประมาณ การคืนเวลาให้ราชการ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้สามารถสื่อสารและบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ความสำเร็จของโครงการในครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน เราสามารถยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาพยาบาลของไทยได้อย่างแน่นอน หวังว่า กระทรวงสาธารณสุขจะนำผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ไปใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่องต่อไป ควบคู่ไปกับการขยายผลความสำเร็จและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง เพื่อร่วมกันสร้างระบบสาธารณสุขไทยให้เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
.
.
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทางคณะทำงานโครงการ Care D+ หวังว่า จะขยายการพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับบุคลากรทางการแพทย์ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรอบรมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตามข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมหลักสูตร เพื่อผลักดันให้เกิดทีม Care D+ อย่างทั่วถึงในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ นำมาซึ่งระบบสาธารณสุขไทยที่มีคุณภาพและเข้าใจ ใส่ใจ ประชาชนอย่างแท้จริง

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!