ดีป้า ชวนผู้ประกอบการดิจิทัลไทยร่วมส่งผลงานสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมประกวดในโครงการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ พร้อมเปิดโอกาสการนำเสนอผลงานสู่สายตาชาวโลก และสร้างแรงบันดาลใจแก่นวัตกรด้านดิจิทัล สมัครได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ – 26 กรกฎาคม 2567
.
.
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อต่อยอดไปสู่ผลงานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และประเทศ พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังเป็นหน่วยงานหลักในการคัดเลือกผลงานของดิจิทัล ของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการดิจิทัลสัญชาติไทย เพื่อเข้าประกวดในโครงการ ASEAN ICT Awards (ASEAN DIGITAL AWARDS ในปัจจุบัน) ที่จัดโดย สำนักงานเลขาธิการอาเซียน มาตั้งแต่ ปี 2560 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีผู้ประกอบการไทยได้รับรางวัลจากโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
.
“โดยในปีนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ยังคงมอบหมายให้ ดีป้า เป็นหน่วยงานคัดเลือกผลงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลฝีมือคนไทย เพื่อเป็นตัวแทนประเทศเข้าประกวดในโครงการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 ที่ประเทศไทย รับบทเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะได้นำเสนอผลงานสู่สายตานานาชาติ อีกทั้งยังเป็นประตูบานใหม่ที่จะเปิดสู่ตลาดสากล พร้อมกันนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลจะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการวิจัยและพัฒนาให้กับนวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์/บริการดิจิทัล และเป็นส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในอนาคต” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
.
.
โครการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 แบ่งการประกวดออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย 1. Public Sector ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ โปรแกรมดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องกับการภาครัฐ หรือ บริการสาธารณะ อาทิ e-government
2. Private Sector ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ โปรแกรมดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อาทิ แอปพลิเคชันอุตสาหกรรม (Industrial application) การบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (e-Logistics and Supply Chain Management) แอปพลิเคชันสำหรับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร (Finance Industry Application) การติดต่อสื่อสาร (Communication) ระบบบริการสุขภาพ (e-Health) การท่องเที่ยวและการบริการ (Tourism and Hospitality) เป็นต้น
.
3. Digital Inclusivity ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ โปรแกรมดิจิทัลที่ช่วยให้ประชาชน/ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยการสร้างทักษะ แรงจูงใจ และโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออนไลน์อย่างปลอดภัย 4. Digital Content ผลิตภัณฑ์ และ/หรือ บริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรวมข้อความ เสียง รูปภาพ และวิดีโอเพื่อสร้างความสนใจ (ความบันเทิง) ในรูปแบบของมัลติมีเดีย สาระบันเทิง ความสมจริง และปฏิสัมพันธ์ 5. Digital Start-up ผู้ประกอบการดิจิทัลที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้ง เช่น ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ หรือ ผลิตภัณฑ์ตั้งต้น ซึ่งรวมความก้าวหน้าทางดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพ/ผู้บริโภค เพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้น 6. Digital Innovation ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ โปรแกรมดิจิทัลที่มาจากสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย ซึ่งส่งเสริมนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองต่อวิธีการดำเนินธุรกิจ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการ
.
โดยการประกวด ASEAN DIGITAL AWARDS เมื่อปี 2024 ตัวแทนประเทศไทย สามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญเงิน จาก ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Health Care โดย บริษัท เฮลธ์แท็ก จำกัด และ ระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดี BiTNet โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
.
ทั้งนี้ ดีป้า และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา จะร่วมคัดเลือกและพิจารณาผู้สมัครจากการนำเสนอผลงานดิจิทัลต่อคณะกรรมการภายในประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานที่เหมาะสมในแต่ละด้าน และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมในโครงการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และส่งใบสมัครได้ที่ https://www.depa.or.th/th/asean-digital-awards ตั้งแต่บัดนี้ – 26 กรกฎาคม 2567