“ตุ่มน้ำพอง” โรคผิวหนังเรื้อรังจากภูมิเพี้ยนในผู้สูงอายุ แพทย์ จุฬาฯ แนะวิธีดูแลและรักษาด้วยยาชนิดใหม่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
แพทย์ จุฬาฯ เผย พบผู้ป่วยโรคผิวหนังเรื้อรังจากภูมิต้านทานในร่างกายทำงานผิดเพี้ยน ที่เรียกว่า “โรคตุ่มน้ำพอง” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แนะการรักษาด้วยยาชนิดใหม่ พร้อมวิธีดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคนี้   
.
“โรคตุ่มน้ำพอง” เป็นหนึ่งในโรคผิวหนังเรื้อรังที่คนไทยคุ้นชื่อเป็นอย่างดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีข่าวดารานักแสดงชายที่มีชื่อเสียง “คุณวินัย ไกรบุตร” ป่วยเป็นโรคนี้ ด้วยอาการขั้นรุนแรง สภาพร่างกายที่เคยแข็งแรง ผิวพรรณดี กลับมีตุ่มน้ำขึ้นทั่วตัว และต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคนี้เป็นเวลานานกว่า 5 ปี ก่อนจะเสียชีวิตไปเมื่อต้นปี 2567 ด้วยสาเหตุการติดเชื้อในกระแสเลือด
.
แม้ชื่อ “โรคตุ่มน้ำพอง” จะเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาเหตุของโรค อาการ แนวทางการรักษา และที่สำคัญ คือ โรคนี้ไม่ใช่โรคที่พบได้ยากในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย
.
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประวิตร อัศวานนท์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง กล่าวว่า ตุ่มน้ำพอง เป็นกลุ่มของโรคผิวหนังที่ไม่ใช่โรคที่หายาก โดยเฉพาะโรค ที่ชื่อว่า bullous pemphigoid ตุ่มน้ำจะเกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำงานผิดเพี้ยน และส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 50 – 60 ปีขึ้นไป
.
“ผู้ป่วยโรคนี้ มักจะวิตกจากการที่มีตุ่มน้ำขนาดต่าง ๆ ขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าตุ่มน้ำแตก จะมีอาการแสบเป็นแผลถลอก และเมื่อหายแล้วจะทิ้งร่องรอยให้เห็นบนผิวหนัง การรักษาที่ไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดตุ่มน้ำเพิ่มมากขึ้น และแพทย์เองก็ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้”
.
ตุ่มน้ำพอง เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็ “สงบ” นาน ๆ ได้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้มีแนวทางการรักษา และยาชนิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยคุมการดำเนินโรค และดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
 .
.
“ภูมิเพี้ยน” สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพอง 
.
ศ.นพ.ดร.ประวิตร อธิบายสาเหตุของโรคตุ่มน้ำพองให้เห็นภาพและเข้าใจง่าย ๆ ว่า ในร่างกายของคนเรามีการสร้างภูมิต้านทานตลอดเวลา ภูมิต้านทานเปรียบเสมือนทหารหรือตำรวจที่ต้องจดจำประชาชนให้ได้ เพื่อปกป้องคุ้มกันภัยให้ แต่ในบางครั้งภูมิต้านทานก็เกิดปัญหา คือ มีการจำที่ผิดเพี้ยนไป จึงทำให้มาทำร้ายคนคุ้นเคย เช่นเดียวกันกับ ภูมิต้านทานในร่างกายที่เกิดความผิดพลาดในการจำ “กาว” ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์หนังกำพร้า และหนังแท้ เข้าด้วยกัน ทำให้ผิวหนังที่เคยเกาะกันด้วยกาวชนิดนี้ แยกตัวออกจากกัน เกิดเป็นตุ่มน้ำขึ้นบริเวณผิวหนัง เราจึงมักอธิบายการเกิด โรคตุ่มน้ำพอง ว่า เกิดจาก “ภูมิเพี้ยน” 
.
โรคภูมิเพี้ยน “ตุ่มน้ำพอง” มี 2 โรค ที่มีลักษณะคล้ายกัน ได้แก่ เพมฟิกัส (Pemphigus) และ บูลลัส เพมฟิกอยด์ (Bullous Pemphigoid) ซึ่งอย่างหลัง เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยกว่า และเป็นชนิดที่เกิดขึ้นกับอดีตนักแสดงชาย เพมฟิกัส เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายทำลายกาวที่อยู่ระหว่างเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า ซึ่งอยู่ในชั้นผิวหนังที่ตื้นกว่า เพมฟิกอยด์ ทำให้เซลล์ในหนังกำพร้าหลุด เกิดเป็นตุ่มน้ำพองที่ผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง เหมือนกับคนถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งดูน่ากลัวและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
.
“ในขณะที่ เพมฟิกอยด์ แม้จะเกิดในชั้นผิวหนังที่ลึกกว่า แต่จะเกิดในผิวหนังบางส่วนเท่านั้น และผู้ป่วยโรคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งภูมิต้านทานในร่างกายมีโอกาสทำงานผิดเพี้ยนมากขึ้น” 
.
ศ.นพ.ดร.ประวิตร กล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคตุ่มน้ำพองมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในสังคมสูงวัย โรคตุ่มน้ำพอง นอกจากจะมาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับยาที่รับประทานด้วย ที่ผ่านมา พบว่า มียาขับปัสสาวะชนิดหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้ และในระยะหลังยารักษาเบาหวานที่เป็นยาใหม่ ๆ กลุ่มหนึ่ง ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคตุ่มน้ำพองชนิดเพมฟิกอยด์อีกด้วย
.
อาการและการวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพอง  
.
อาการของ โรคตุ่มน้ำพอง ที่เห็นได้ชัด คือ การเกิดตุ่มน้ำใส ๆ พองขึ้นบริเวณผิวหนังเหมือนโดนน้ำร้อนลวก หรือ ไฟไหม้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่ผิวหนังโดยไม่มีสาเหตุ และเป็นผื่นบวมแดง ซึ่งแตกต่างจากโรคผื่นภูมิแพ้ ที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ ตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยโรคนี้เกิดขึ้นแตกต่างกัน บางคนเกิดเฉพาะที่ เช่น มือ เท้า หรือ หน้าแข้ง รวมทั้งในช่องปาก ส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานอย่างมาก และในผู้ป่วยแต่ละราย ความรุนแรงของโรคอาจเพิ่มขึ้นด้วยหลายปัจจัย อาทิ การใช้ยาบางชนิด แสงแดด และ การฉายแสง เป็นต้น
 .
“การวินิจฉัยตุ่มน้ำที่ขึ้นตามผิวหนังว่า เกิดจากโรคตุ่มน้ำพอง หรือ ภูมิแพ้ผิวหนัง จะใช้วิธีการนำชิ้นเนื้อผิวหนังไปตรวจด้วยวิธีการย้อมพิเศษ ว่ามีภูมิเพี้ยนมาเกาะที่ผิวหนังหรือไม่ และเจาะเลือดเพื่อตรวจดูด้วยว่า ร่างกายมีภูมิเพี้ยนหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจด้วยหลายวิธีประกอบกัน จะช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่”
.
วิธีรักษาโรคตุ่มน้ำพอง
.
เนื่องจากตุ่มน้ำพองเป็นโรคเรื้อรัง ที่เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายทำงานผิดเพี้ยนไป วิธีการรักษาหลัก จึงเน้นไปที่การรับประทานยาประเภทสเตียรอยด์ เพื่อกดภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สร้างภูมิเพี้ยนลดลง อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นพ.ประวิตร กล่าวว่า การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้หน้าบวม กระดูกพรุน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
.
“การใช้ยาสเตียรอยด์ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และพยายามลดยาลงเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีการอื่น ๆ ในการรักษาประกอบกันด้วย เช่น การรับประทานยาบางชนิดที่ลดการอักเสบที่ผิวหนัง หรือ ใช้ยาทาที่ผิวหนังในกรณีที่มีตุ่มน้ำพองขึ้นเฉพาะที่”
.
.
ยาชนิดใหม่ คุมโรคตุ่มน้ำพอง
.
นอกจากสเตียรอยด์ที่เป็นยาหลักในการรักษา โรคตุ่มน้ำพอง แล้ว ในปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดใหม่หลายตัวในการรักษาโรคนี้ รวมถึงการใช้ยาฉีด ที่มีชื่อว่า “Dupilumab” (ดูพิลูแมบ) ซึ่งเป็นยาชีววัตถุที่มีข้อบ่งใช้โดยตรง ในการใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่กลับใช้ได้ผลดีในการรักษาโรคตุ่มน้ำพอง อย่างไรก็ดี ถือว่าเป็นการใช้นอกข้อบ่งชี้ (off-label use)
.
โรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ได้รุนแรงถึงกับเสียชีวิต เป็นโรคที่คุมได้ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง ถ้าคุมโรคได้ดี จะทำให้โรคสงบอยู่นานหลายปี โดยปกติในช่วงที่ร่างกายเกิดภูมิเพี้ยน แพทย์จะให้ทานยากดภูมิ เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลง ระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันไป บางรายใช้เวลานานนับปี ขึ้นอยู่กับอาการของโรคว่ามีความรุนแรงมากแค่ไหน”
.
เช็คลิสต์ดูแลตัวเอง เมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง
.
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพอง ศ.นพ.ดร.ประวิตร ให้คำแนะนำและข้อควรระวังสำคัญ ๆ เพื่อดูแลตัวเองในขณะที่กำลังรับการรักษาจากแพทย์ ดังนี้
.
– ผู้ป่วยเป็นโรคนี้สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่มีข้อยกเว้นเรื่องอาหารแต่อย่างใด แม้แต่อาหารหมักดองก็ตาม แต่หากพบว่า มีอาการตุ่มน้ำพองเพิ่มขึ้น ภายหลังการรับประทานอาหารชนิดใด ก็ให้งดอาหารชนิดนั้น ๆ
– การรับประทานอาหารเสริม และการออกกำลังกาย มีผลต่อโรคนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป และดูว่าอยู่ในช่วงใดของการรักษา
– หากต้องการใช้ยาสมุนไพรในการรักษา ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนว่า ควรรับประทานหรือไม่
– แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้โรคลุกลามขึ้นได้ ดังนั้น ควรเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง และเป็นเวลานาน
– ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้า หรือ รองเท้าที่รัดจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสี ส่งผลให้ผิวหนังแยกตัวมากขึ้นได้
– ไม่ควรหยุด หรือ  เพิ่มยาสเตียรอยด์เอง เนื่องจากจะส่งผลต่อผลการรักษา
– การฉีดวัคซีนมีผลทำให้เกิดตุ่มน้ำพองเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
– การรักษาด้วยวิธีออกซิเจนบำบัด (Hyperbaric oxygen therapy) ปกติจะใช้ในการรักษาแผลเรื้อรัง แต่ตุ่มน้ำพองมีลักษณะเป็นแผลสด จึงไม่ใช่วิธีการหลักที่ใช้ในการรักษา
.
ผู้ที่สงสัยว่าเป็น โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถติดต่อแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องได้ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทุกแห่ง  

RANDOM

กองทุนการศึกษา เอ็กซอนโมบิล สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มอบทุนการศึกษา 20 ทุน สำหรับนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ประจำปี 2566 หมดเขตยื่นใบสมัคร 10 พ.ย. นี้

ศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร เชิญชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไป ส่งผลงานแอนิเมชัน และ การ์ตูนเรื่องสั้น หัวข้อ “ครูต้นแบบผู้สร้างศิษย์” ชิเงินรางวัลรวม 40,000 บาท ส่งผลงานได้ ตั้งแต่บัดนี้ 15 ก.พ.

NEWS

ตามรอยศาสตร์พระราชา เยือนแหล่งเรียนรู้รักษ์เต่าทะเล และ Green Hotel ต้นแบบโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ จ.พังงา ในโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 51

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!