ศิลปกรรม มศว จัดโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม “ดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย” เชื่อมสัมพันธ์สองวัฒนธรรม พร้อมโชว์การแสดงดนตรี-นาฏศิลป์ สุดตระการตา

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดโอกาสจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานวัฒนธรรมไทยและอินโดนีเซีย เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม และนำเสนอมิติทางการศึกษาสู่การพัฒนาผ่านศิลปวัฒนธรรมให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปกรรมให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสากล

ล่าสุดจัด โครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการ : ดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับคณาจารย์และนิสิตในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์สร้างสรรค์และการจัดการ และ หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ด้วยความร่วมมือจาก Faculty of Performing Arts, Indonesia Institute of the Arts, Yogyakarta ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนวิชาการในระดับนานาชาติให้กับคณะ นำไปสู่การพัฒนาความรู้ข้ามวัฒนธรรม และการให้ความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมส่งเสริมสังคมสันติสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการทางดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซียที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นการจัดงานและเปลี่ยนประหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นมิตรประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาช้านาน ยังทำให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ผ่านดนตรีและนาฏศิลป์ที่ทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจากอินโดนีเซีย และยังถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เหล่าคณาจารย์และนิสิตนักศึกษาจากอินโดนีเซีย สามารถนำประสบการณ์ที่ดีตลอดการอบรมในโครงการ กลับไปเผยแพร่ได้ต่อไป

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการ : ดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย ทั้งคณาจารย์ นิสิต และบุคคลภายนอก จะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของอินโดนีเซีย ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่าง ดนตรีกาเมลันชวา (Javanese Gamelan) ดนตรีท้องถิ่นของคนชวา ในประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นวงดนตรีรวมเครื่องดนตรีหลายชนิดเข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย เครื่องดนตรีประเภทตีชนิดต่าง ๆ เช่น กลอง (Kendang) ฆ้องโลหะประเภทต่าง ๆ ประกอบด้วย โบนัง (Bonang), เกอน็อง (Kenong), เกิมปุล (Kempul) และ ก็อง (Gong) ยังมีเครื่องสาย เช่น เรอบับ (Rebab) ที่มีลักษณะคล้ายซอสามสายของไทย เครื่องเป่าประเภทขลุ่ย เรียกว่า ซูลิง (Suling) โดย ดนตรีกาเมลัน มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมและพิธีกรรมของชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะกลุ่มคนชวา (Javanese) และ คนซุนดา (Sundanese) ในเกาะชวา (Java) และคนบาหลี ในเกาะบาหลี (Bali) มักใช้ในการแสดงละครท้องถิ่น งานแต่งงาน การแสดงหุ่นเงา หรือ วายังกุลิต (Wayang Kulit) นอกจากนี้ ดนตรีกาเมลัน ยังมีลักษณะเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างความรู้สึกที่มีมนต์ขลัง ดนตรีกาเมลัน ยังถือเป็นศิลปะที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ซึ่งต้องประสานเสียงกันอย่างลงตัว เพื่อสร้างบทเพลงที่สมบูรณ์แบบและงดงาม

รวมถึง นาฏศิลป์อินโดนีเซีย อย่าง การแสดงชุด โกเละก์ เกินโย ตีเนิมเบ (Golek Kenya Tinembe) บรรเลง ประกอบด้วยเพลง ลา ดรัง อัสโมโรโดโน (Ladrang Asmaradana) เป็นการแสดงรำแบบขนบของราชสำนักยอกยาการ์ตา กล่าวถึงสตรีชวาที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะต้องศึกษาเล่าเรียน ดูแลตัวเอง และมีวัตรปฏิบัติดีงาม สมเป็นกุลสตรีชวา และการบรรเลงดนตรีกาเมลันชวา เพลงกังซาราน โรโร มิงก๊ะห์ ลันจารัน มายาร์ เซวู (Gangsaran 2 minggah Lancaran Manyar Sewu, laras pelog pathet barang) บทเพลงของราชสำนักชวา นครยอกยาการ์ตา ที่มีอัตราจังหวะต่อเนื่องกันสองอัตราจังหวะ แสดงฝีมือการบรรเลงของนักดนตรีที่สร้างเพลงที่คล้ายนกยูง ทั้งพันตัวขึ้นบินระยิบระยับท้องฟ้า

ต่อด้วย ละครรำชวา เรื่องอิเหนา ตอน Klana Sewandana Lena ที่กล่าวถึงความรักของจรกาที่มีต่อบุษบา จนทำให้เกิดเป็นสงครามขึ้น ถ่ายทอดให้เข้าใจและเข้าถึงวัฒนธรรม ผ่านการแสดงออกในรูปแบบดนตรีและการแสดงนาฏศิลป์ที่หาชมได้ยาก แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสารถึงวัฒนธรรมประจำชาติ ผ่านท่วงทำนองและลีลาท่าทางที่สวยงามอ่อนช้อย รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเครื่องประดับที่ออกแบบอย่างวิจิตรบรรจง และ การแสดงเปิดงานชุดระบำฆ้องใหม่ โดย นิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สื่อความหมายถึง การมีเสียงฆ้องใหม่ในดินแดนสยาม นำนาฏยลักษณ์อันงดงามตามแบบนาฏศิลป์ชวา และนาฏศิลป์ไทย มาผสมผสานกัน โดยยังคงลักษณะเด่นของนาฏศิลป์ชวา คือ การร่ายรำโดยใช้ผ้าผูกเอว หรือ ซัมปูร์ (sampur) แสดงลีลาท่ารำของสตรีในโอกาสการเฉลิมฉลองแสดงความยินดี การมีเสียงฆ้องใหม่ในดินแดนสยาม ตลอดจนแสดงความเคารพบูชา เพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดอำนวยพรมงคล ด้วยลีลาท่ารำอันอ่อนช้อยผสมกลมกลืนอย่างสง่างาม แสดงถึงจิตใจอันอ่อนโยนบริสุทธิ์

คณะนักแสดงและนักดนตรีจากประเทศอินโดนีเซีย ยังได้เดินทางไปเรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียนรู้ความภาคภูมิใจของคนไทย ผ่านประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณสถาน ตลอดจนวิถีชีวิตคนไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักอีกด้วย

กล่าวได้ว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จะช่วยเสริมสร้างทักษะและความรู้ความเข้าใจในด้านศิลปะดนตรี และการแสดงนาฏศิลป์ที่ลึกซึ้งขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศอย่างสร้างสรรค์ และเชื่อว่าโครงการนี้ จะไม่เพียงแค่เพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับนักศึกษาและคณาจารย์เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในด้านศิลปกรรมและศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียต่อไป

การเดินทางมาเยือนประเทศไทย ผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการ : ดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย ที่จัดโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ นับเป็นการเปิดประตูสู่วัฒนธรรม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีค่าต่อทั้งสองประเทศอย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ และเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในอนาคต

RANDOM

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

ทางเลือก “การตั้งสมาคมมวยสากลของไทย” ขึ้นใหม่ น่าจะเป็นทางเลือกที่โดดเด่นที่สุดสำหรับวงการกีฬาไทย ต่อกรณีความขัดแย้งของวงการมวยสากลโลก ซึ่งกำลังวิกฤติในห้วงเวลานี้…เพราะอะไร!!!

NEWS

ม.หอการค้าไทย ชวนน้อง ๆ มัธยมปลายร่วมโครงการ “แคมป์เด็กหัวการค้า ปีที่ 11 จุดประกายความฝัน…ปั้นผู้นำธุรกิจ” บ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นเยาว์ ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต เปิดรับสมัครแล้ว ถึง 3 ตุลาคม

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!