องค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับ โรคฝีดาษลิง หรือ เอ็มพอกซ์ ให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังแอฟริกามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ เคลด 1 บี (Claude 1b)
ด้าน กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมาระบุว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 19 ส.ค. 2567 ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์รุนแรง เคลด 1 บี ในประเทศไทย แต่มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรสายพันธุ์ไม่รุนแรง
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวว่า ในประเทศไทย โดย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้มีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว แต่มีค่าใช้จ่าย ป้องกันความรุนแรงได้ ร้อยละ 68-80%
ฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2567 สภากาชาดไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร ว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร สามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยมีการบริการฉีด 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (ขนาดเต็มโดส 0.5 ML) ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน
วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (ครั้งละ 0.1 ML) ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน (ต้องมาพร้อมกัน 4 ท่าน)
เปิดทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.) และ เวลา 13.00-16.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 16.00 น.) วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.) ส่วนวันอาทิตย์ปิดทำการ
สภากาชาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยตรง แต่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึงร้อยละ 80-85 ซึ่งผู้ที่ควรได้รับวัคซีน คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ดังนี้
การฉีดวัคซีนแก่บุคคลที่มีการสัมผัสโรคแล้ว ได้แก่ ผู้ที่มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ใกล้ชิดคลุกคลี หรือ มีการสัมผัสกับรอยโรคของผู้ติดเชื้อ โดยให้เริ่มฉีดวัคซีนภายใน 14 วัน หลังสัมผัสโรค (ดีที่สุดคือ ภายใน 4 วัน)