ทำความรู้จัก…โรคฝีดาษลิง (Mpox) ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

หลังจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนว่า โรคฝีดาษลิง หรือ เอ็มพ็อกซ์ (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในสวีเดน ที่เชื่อมโยงกับการระบาดในแอฟริกา นอกจากนี้ ยังมีรายงานการติดเชื้อในฟิลิปปินส์ และล่าสุดพบผู้ติดเชื้อที่ประเทศไทย ซึ่งกำลังรอการยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ Clade Ib ที่แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสใกล้ชิดหรือไม่

Dr. Hans Kluge จาก WHO กล่าวย้ำว่า แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และการแจ้งเตือนทั่วโลก แต่ยังสามารถควบคุมเอ็มพ็อกซ์ได้ เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขรู้วิธีควบคุมการแพร่ระบาด และดำเนินการกระจายวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด

ทำความรู้จักกับเอ็มพ็อกซ์
เอ็มพ็อกซ์ หรือ ฝีดาษลิง เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสฝีดาษลิง (Mpox virus หรือ monkeypox virus) ซึ่งอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับ ไวรัสฝีดาษ (smallpox) โดย ไวรัสเอ็มพ็อกซ์ มีสองสายพันธุ์หลัก คือ Clade I และ Clade II ซึ่งการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือ รอยโรคของผู้ป่วย วัสดุที่ปนเปื้อน สำหรับกรณีของการแพร่เชื้อผ่านละอองน้ำจากการหายใจ จะเกิดได้เมื่อใบหน้าอยู่ใกล้ชิดกัน นอกจากนี้ การแพร่เชื้ออาจจะเกิดผ่านจากแม่สู่ทารกในครรภ์ หรือ ระหว่างการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างคลอด และหลังคลอด

อาการของเอ็มพ็อกซ์
เอ็มพ็อกซ์ มีระยะฟักตัวประมาณ 3-17 วัน ในช่วงนี้ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการ อาการหลักของโรค คือ ผื่นผิวหนังบริเวณใบหน้า แขน ขา มือ เท้า หน้าอก หรือ บริเวณอวัยวะเพศ ผื่นเริ่มจากผื่นราบ ต่อมาจะนูนขึ้น กลายเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จนเป็นแผ่นสะเก็ดที่แห้งและลอกเอง โดยมักจะมีอาการร่วม เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ คัดจมูก ไอ และ ต่อมน้ำเหลืองโต

การวินิจฉัยเอ็มพ็อกซ์
การวินิจฉัยเอ็มพ็อกซ์ทำได้ยาก เนื่องจากอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น อีสุกอีใส หัด เริม หรือ ซิฟิลิส ซึ่งการยืนยันการติดเชื้อสามารถทำได้โดยการตรวจดีเอ็นเอของไวรัส ด้วยวิธี PCR จากตัวอย่างผื่น หรือ สารคัดหลั่งจากรอยโรค หากไม่มีรอยโรค สามารถเก็บตัวอย่างจากปาก และคอหอย หรือ ทวารหนัก

การรักษาเอ็มพ็อกซ์
การรักษาเน้นการประคับประคองและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน ส่วนใหญ่โรคจะหายได้เองใน 2-4 สัปดาห์ แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเอคซิม่า และ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีความรุนแรงมากขึ้น

การปฏิบัติตัว
ผู้ป่วยควรแยกตัวอยู่ในห้องของตนเอง งดใช้ของร่วมกับผู้อื่น และดูแลผื่นให้สะอาดและแห้ง หากมีอาการปวดหรือบวมแดง ควรรีบพบแพทย์ หากต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นควรสวมหน้ากากอนามัย ปิดแผล และ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น

การป้องกันเอ็มพ็อกซ์
ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน โดยทั่วไปวัคซีนนี้จะให้กับกลุ่มเสี่ยง สำหรับวัคซีนในปัจจุบันที่ใช้ในการป้องกันเอ็มพ็อกซ์ คือ วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันฝีดาษ (smallpox) นั่นเอง ซึ่งพบว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% นอกจากนี้ การล้างมือบ่อย ๆ หรือ การใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จะช่วยในการป้องกันได้

ขอบคุณข้อมูลจาก สสวท.

RANDOM

วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ วิทยุจุฬาฯ และ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ชวนน้อง ๆ ร่วมประกวดในโครงการ Green Mission by Chula X Gulf : ภารกิจรักษ์ยั่งยืน หัวข้อ “Beware Your Step : ก้าวต่อไป ไร้รอยเท้า” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!