การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่เพียงแต่ต้องเข้าใจพื้นฐาน และปัญหาของชุมชน แต่ยังต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ นี่คือสิ่งที่นวัตกรชุมชน จาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และชาวบ้านในจังหวัดแพร่ได้ร่วมกันทำ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมห้อมพื้นบ้านให้มีคุณภาพดีขึ้น คงทนยิ่งขึ้น และมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น
นายวิทวัส นวลอินทร์ หรือ “พี่เค” นวัตกรชุมชนจากชุดโครงการกรุ่นกลิ่นเสน่ห์ห้อมย้อมห้อมธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยววัฒนธรรมเวียงโกศัย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพท. อธิบายว่า เราเริ่มต้นโครงการวิจัยนี้ เพราะพบว่าผ้าย้อมห้อมธรรมชาติที่ผู้บริโภคซื้อใช้งาน มักมีปัญหาสีตก สีซีดเร็ว ซึ่งทำให้ไม่ได้รับความนิยม และถูกแทนที่ด้วยการย้อมเคมี ซึ่งเป็นที่นิยม เนื่องจากต้นทุนถูก และมีกระบวนการที่รวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน การใช้สารเคมีบางชนิดในการย้อม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ผลิต หากไม่มีการป้องกันที่ดีเพียงพอ ดังนั้น การผลิตห้อมจากธรรมชาติ ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม จึงเป็นทางออกทั้งในเรื่องของสุขภาพ ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม และการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผ้าย้อมห้อมมีคุณภาพดีขึ้น มาจากการใช้เทคโนโลยีพลาสมา เป็นการนำอากาศมาทำให้แตกตัว และปล่อยอนุมูลอิสระออกมา เพื่อปรับปรุงพื้นผิวของเส้นใยผ้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของเส้นใย ทำให้ผ้ามีความสามารถในการดูดซึมสีได้ดีขึ้น สีติดทนนานกว่าเดิม และยังช่วยป้องกันการซีดและป้องกันแสง UV ได้อีกด้วย
พี่เค กล่าวถึงกระบวนการนี้ว่า เมื่อเราเอาพลาสมามาใช้กับเส้นใยธรรมชาติ จะเกิดคุณสมบัติที่เรียกว่า “ชอบน้ำ” ทำให้สีธรรมชาติซึมเข้าสู่เส้นใยได้มากขึ้น และติดแน่นกว่าเดิม ผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ แสดงให้เห็นว่า ผ้าที่ผ่านกระบวนการพลาสมานั้น มีความเข้มของสีมากกว่าผ้าที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่จะช่วยสร้างความแตกต่าง และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
นอกจากการปรับปรุงคุณภาพผ้าแล้ว เทคโนโลยีพลาสมายังทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลาย และสร้างสรรค์ขึ้นได้ โดยทีมวิจัยให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวของผ้าย้อมห้อม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจังหวัดแพร่ โดยนำมาปรับเป็นลวดลายบนผืนผ้า ทำให้ผ้าย้อมห้อมของแพร่ไม่เหมือนกับที่ใดในประเทศไทย
“โจทย์หนึ่งที่สำคัญ คือ เราจะสร้างความแตกต่างจากผ้าย้อมห้อมที่ทำกันทั่วไปอย่างไร เราจึงได้นำลวดลายจากเครื่องประดับของชุมชน 10 ตำบล ในจังหวัดแพร่ มาทำเป็นลายบนผืนผ้า ซึ่งแต่ละลายมีเรื่องเล่าของชุมชนและประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ ตัวอย่าง ลวดลายที่โดดเด่น เช่น ลาย “ดอกผักแว่น” ซึ่งเป็นลายดั้งเดิมของตำบลห้วยอ้อ ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นดอกผักแว่น 8 กลีบ หรือ “ลายล้อเกวียน” ของชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง ที่เป็นตัวแทนของการอพยพและเดินทางของชุมชนไทยพวน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3″ พี่เค อธิบาย
เมื่อแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของผ้า และการสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ได้แล้ว สิ่งที่ทีมวิจัยเน้นหนักอีกอย่าง คือ การสร้างเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืนในชุมชน ทีมวิจัยไม่ได้เน้นให้ชาวบ้านทำงานทุกขั้นตอนเพียงลำพัง แต่กระจายงานตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันรายได้อย่างเป็นธรรม “เราสร้างเครือข่ายการทำงานในชุมชน เริ่มจากคนปลูกห้อม คนสกัดสี ไปจนถึง คนที่ทำลวดลาย และตัดเย็บ ทุกคนมีส่วนในการผลิตผ้าย้อมห้อมคุณภาพ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับทุกคน ผ่านสายพานการผลิตในแต่ละขั้นตอน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังสามารถทำรายได้จากการทำลวดลายบนผืนผ้า การกัดลาย หรือ การขายห้อมเปียก ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการย้อมสีให้กับชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดใกล้เคียงได้อีกด้วย”
เมื่อผลิตภัณฑ์และเครือข่ายพร้อม ทีมวิจัยยังพัฒนาแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.rujiradaphrae.com เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมห้อมเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ การส่งออกผลิตภัณฑ์จากชุมชน เป็นอีกช่องทางที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตในปริมาณมาก แต่เน้นการเพิ่มคุณค่า และความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และขายในตลาดที่มีกำลังซื้อ
“สิ่งที่เราขายไม่ใช่แค่ผ้าย้อมห้อมธรรมดา แต่เป็นงานศิลปะที่ทุกชิ้นมีคุณค่า มีเรื่องราว และแฝงนวัตกรรมเข้าไปในนั้น” พี่เค กล่าวถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากการขายผ้าย้อมห้อมแบบเดิม
แม้งานวิจัยนี้ จะใช้เวลามากกว่า 3 ปี ในการพัฒนา แต่ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน ชาวบ้านเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม การแบ่งหน้าที่ตามความถนัด และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า พี่เคและทีมงานยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อยอดงานวิจัยนี้ต่อไป โดยเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่ต้องแข่งขันกันเอง “เราพยายามให้ชาวบ้านสร้างแบรนด์และสินค้าเป็นของตัวเอง และไม่ให้เกิดการแข่งขันกันในกลุ่ม เราเชื่อว่า การสร้างความแตกต่างและอัตลักษณ์ที่ชัดเจน จะทำให้ชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน” พี่เค สรุป
การนำงานวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงไม่ใช่เพียงแค่การปรับปรุงคุณภาพสินค้า แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น และอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่สืบไป