ราชมงคลอีสาน ลงพื้นที่วิจัยชุมชน ตั้งเป้าหนุน “สุรินทร์ เป็น HUB ผลิตเส้นไหมคุณภาพ” ดึงเทคโนโลยีช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช ริทินโย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นักวิจัยจาก โครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตผ้าไหม ผลิตภัณฑ์และการบริการสร้างสรรค์ ตามรอยอารยธรรมของอีสานใต้ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้” ซึ่งสนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่ขึ้นชื่อ ดังนั้น โจทย์การพัฒนาผ้าไหมให้มีคุณภาพ จึงเป็นโจทย์แรกของการทำงาน โดยในระยะต้นน้ำต้องยกระดับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช ริทินโย

หลังจากลงพื้นที่สำรวจการผลิตเส้นไหม พบว่า ในจังหวัดสุรินทร์สามารถผลิตเส้นไหมได้เพียงปีละ 37 ล้านบาท เท่านั้น สวนทางกับความต้องการของตลาดในจังหวัดที่ต้องการเส้นไหมปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า ดังนั้น จึงต้องนำเข้าเส้นไหมมาจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

การทำงานในช่วงต้นน้ำ คือ ต้องผลิตเส้นไหมให้ได้มากขึ้น จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ด้วยการเริ่มต้นต้องมีใบหม่อนที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากพอในการเลี้ยงหนอนไหม ที่ผ่านมา ใบหม่อน 1 ไร่ ได้ผลผลิตเป็นใบหม่อน จำนวน 900 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งไม่พอเลี้ยงไหม นักวิจัยจึงเข้าไปช่วยวิจัยเรื่องการจัดการเรื่องดิน น้ำ และการตัดแต่ง เพื่อให้ได้ใบหม่อนที่มีคุณภาพ ทำให้ยกระดับการเลี้ยงไหมได้ดีขึ้น

สำหรับช่วงกลางน้ำ นักวิจัยมีการแก้ปัญหาการเลี้ยงหนอนไหมแบบซ้อนรุ่น และปรับเรื่องการให้อาหารที่ถูกต้อง การจัดโรงเรือนและปรับสภาวะแวดล้อมการเลี้ยงที่เหมาะสม เบื้องต้นก่อนการปรับเกษตรกรเลี้ยงไหมได้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังอยู่ที่ 12-15% ซึ่งเปอร์เซ็นต์เปลือกรังไหมจะเปลี่ยนแปลงไปตามคุณภาพรังไหมที่เกษตรกรเลี้ยงได้ โดยตัวเลขดังกล่าว ถือว่าเป็นปริมาณที่น้อย

จากผลการสำรวจ พบว่า หลังจากปรับเปลี่ยนการเลี้ยงหนอนไหมและการให้อาหาร ทำให้ได้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังไหมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ โดยทุก ๆ 1 เปอร์เซ็นต์ จะได้ความยาวเส้นไหมเพิ่มขึ้นมา 30 เมตร ดังนั้น หากเกษตรกรเลี้ยงไหม 1 รุ่น ได้รังไหม 10,000 รัง นำมาคูณ 30 เมตร จากเปอร์เซ็นต์เปลือกรังที่เพิ่มขึ้น จะได้เส้นไหม 300,000 เมตรต่อรอบการผลิตรังไหม

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อผลิตเส้นไหมและการเตรียมเส้นไหม นักวิจัยได้พัฒนาเครื่องจักรสำหรับการผลิตเส้นไหม และการเตรียมเส้นไหม ประกอบด้วย เครื่องสาวเส้นไหม เครื่องช่วยฟอกและย้อมสีเส้นไหม เครื่องตีและควบเกลียวเส้นไหม เครื่องขึ้นลำมัดหมี่ เครื่องค้นหูกเส้นไหม และเครื่องช่วยขึ้นม้วนเส้นไหม ซึ่งทำให้สามารถผลิตเส้นไหมให้มีคุณภาพเกรด A และประสิทธิภาพการผลิตเส้นไหมสูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์

“กระบวนการต่าง ๆ ที่เข้าไปทำวิจัย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นกระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากพอสมควร สามารถลดการซื้อเส้นไหมจากที่อื่นได้ 100 % สามารถลดความเมื่อยล้าจากกรรมวิธีการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเส้นไหมในขั้นตอนต่าง ๆ เป้าหมายสำคัญของโครงการ คือ การสร้างนวัตกรชุมชนที่มีทักษะในการเสริมสร้าง การต่อยอด และการขยายความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายเราตั้งเป้าว่า จังหวัดสุรินทร์ จะเป็น HUB ของเส้นไหม เมื่อนึกถึงเส้นไหมที่มีคุณภาพต้องที่จังหวัดสุรินทร์”

แม่บัวไข เติมศิลป์

ด้าน แม่บัวไข เติมศิลป์ นวัตกรชุมชนและประธานกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ สะท้อนมุมมองของงานวิจัยที่เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม ว่า หลังจากมีนักวิจัยเข้ามาทำให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบและเกิดความสามัคคีในชุมชน

สำหรับการยกระดับการทำงาน ทางกลุ่มปลุกหม่อนเลี้ยงไหม ได้รับการพัฒนาจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชัยภูมิ ที่เข้ามาส่งเสริมและเกิดการพัฒนาเส้นการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น วิธีการเลี้ยงไหม วิธีการสาวไหม และกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์จากทางกลุ่มฯ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

เมื่อก่อนถูกกำหนดราคาด้วยพ่อค้าคนกลาง แต่วันนี้เราสามารถกำหนดราคาเองได้ ไม่ต้องรอให้พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ เพราะเรามีตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เรามีการปลูกผักสวนครัวไปด้วย ขยายแปลงผัก คือ ปลูกทุกอย่างที่กินได้ เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ความสุขของแม่ คือ การที่เราได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตัวเองและเพื่อน ๆ ในชุมชน ซึ่งเป็นการรักษารากเหง้าของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของบรรพบุรุษ เป็นสิ่งที่แม่ภาคภูมิใจมาก”

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการผลิตวัตถุดิบอย่างเส้นไหมให้ทอเป็นผ้าไหมสุรินทร์ที่มีคุณภาพ สู่โจทย์วิจัยในการพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของนวัตกรชุมชนในวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ ภายใต้การทำงานวิจัยที่ใช้โจทย์ชุมชนเป็นตัวตั้งต้น โดยคำนึงถึงปัญหา ความต้องการ หรือ ความสนใจของคนในชุมชน ที่มุ่งเน้นหาทางแก้ไข หรือ พัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น

RANDOM

“กกท.-กองทุนกีฬา-บัวขาว-IFMA” ผนึกกำลังเปิดกิจกรรม Good Morning Muaythai ฝึกสอนทักษะมวยไทยทั้งหมัด-เท้า-เข่า-ศอก ให้ชาวต่างชาติระหว่างงานใหญ่ระดับโลก “สปอร์ต แอคคอร์ด เวิลด์ สปอร์ต แอนด์ บิสซิเนส ซัมมิท 2024” ที่เมืองผู้ดี

NEWS

มูลนิธิเอ็มพลัส ร่วมกับ สสส. ชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานร่วมประกวดคลิปวิดีโอ หัวข้อ “ภารกิจ ยุติเอดส์ ไม่ติด ไม่ตีตรา” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 15 พ.ย. 67

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!