มูลนิธิสัมมาชีพ มอบรางวัล ‘เกรียงไกร’ ประธาน ส.อ.ท. บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 67 เผย พร้อมจัดงานมอบรางวัล 17 ธ.ค. นี้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
คณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ มีมติเอกฉันท์เลือก “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2567 ในฐานะผู้บริหารที่มีความโดดเด่นด้านวิสัยทัศน์ยกระดับภาคอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พร้อมมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอี ช่วยสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เตรียมมอบรางวัล 17 ธันวาคม นี้ ณ โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ
.
.
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ มีมติเห็นชอบให้นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2567  ซึ่งนับเป็นบุคคลที่ 10 ตั้งแต่มีการมอบรางวัลตั้งแต่ ปี 2552 เป็นต้นมา เนื่องจาก นายเกรียงไกร เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ให้กับเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับสู่อุตสาหกรรรมสีเขียว อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน จนกระทั่ง นายเกรียงไกร ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ 2 วาระติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2565 – 2569
.
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ทิศทางดังกล่าว นายเกรียงไกร มีนโยบาย One FTI  ที่มุ่งหลอมรวมทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึง ธุรกิจเอสเอ็มอี และในระดับจังหวัด ซึ่งไม่เพียงแต่พัฒนาอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) แต่ยังส่งเสริมการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมใหม่ หรือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) และสนับสนุนอุตสาหกรรมให้ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อที่ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทรนด์ดิจิทัล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
.
นอกจากนี้ นายเกรียงไกร ยังมีแนวคิดในการนำภาคเกษตรอุตสาหกรรมมาเชื่อมโยงกับชุมชน ผ่านโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ SAI (Smart Agriculture Industry) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย SAI จะเป็นการผสมผสานระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะสามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืน
.
นอกจากนี้ นายเกรียงไกร ยังมุ่งส่งเสริมขีดความสามารถของเอสเอ็มอีเพื่อให้แข่งขันได้ ผ่านการยกระดับ SME เป็น Smart SME ผ่านนโยบาย 4 Go ได้แก่ Go Digital and AI การนำดิจิทัลมาช่วยยกระดับศักยภาพทางธุรกิจของเอสเอ็มอี Go Innovation การพัฒนานวัตกรรม โดยร่วมมือกับเครือข่ายดำเนินโครงการ “กองทุนอินโนเวชัน วัน” (INOVATION ONE) เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ  Go Global การสร้างและขยายโอกาสในตลาดต่างประเทศของเอสเอ็มอี โดยสนับสนุนการพัฒนาสินค้าสู่มาตรฐานต่าง ๆ และ Go Green สนับสนุนเอสเอ็มอีพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
นอกจากภารกิจดังกล่าว นายเกรียงไกร ยังมีบทบาทในการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนนักลงทุนต่างประเทศ ในการผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการลงทุนเพื่อขับเคลื่อน GDP ให้เติบโตและมีความยั่งยืน ส่งผลให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นที่ยอมรับจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
.
ด้าน การบริหารธุรกิจส่วนตัว นายเกรียงไกร ได้พัฒนากิจการของครอบครัว คือ โรงพิมพ์นิวไวเต็ก ให้เป็นธุรกิจการพิมพ์แถวหน้าของเมืองไทย โดยขยายสู่ตลาดสิ่งพิมพ์การตลาดและโฆษณาขององค์กรขนาดใหญ่ และยังได้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมการพิมพ์ไทย หลายสมัย ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิด Print City คลัสเตอร์ธุรกิจการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย และวางยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการพิมพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 
.
“คุณเกรียงไกร เป็นบุคคลต้นแบบสัมมาชีพที่มีความโดดเด่นในการเป็นผู้นำ ผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยปรับสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นแนวคิดของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรอบด้าน และจะช่วยสร้างเม็ดเงินใหม่ ๆ ให้อุตสาหกรรม อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรง และยั่งยืนขึ้น” ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าว
.
นายเกรียงไกร จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ หลักสูตร The Executive Management Seminar 2002, The Wharton School University of Pennsylvania ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เคยดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมการพิมพ์ไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส.อ.ท., กรรมการบริหาร ส.อ.ท. ปัจจุบัน นายเกรียงไกร ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด
.
สำหรับเกณฑ์การพิจารณารางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพของมูลนิธิสัมมาชีพ ประกอบด้วย การเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ หรือ ยกย่องจากสาธารณชน ว่า เป็นผู้มีคุณงามความดี ซื่อสัตย์ สุจริต ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการทำธุรกิจบนความถูกต้องดีงาม ไม่เอาเปรียบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นนักธุรกิจที่ส่งเสริมเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชน สังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน หรือ แก้ปัญหาในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
.
.
ทั้งนี้ บุคคลต้นแบบสัมมาชีพของมูลนิธิสัมมาชีพในช่วงที่ผ่านมา มี 9 ท่าน ได้แก่ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหารเครือสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ปี 2552, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มน้ำตาลมิตรผล จำกัด ปี 2553, นายไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ปี 2554, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ปี 2555, นายตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปี 2560, นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ปี 2561, นางจรีพร เทพผดุงพร ประธานกรรมการ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ปี 2562 ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ และ บริษัทในกลุ่ม ปี 2565, ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ อดีตประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ บริษัทในเครือ และอดีตประธานกรรมการ บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด ปี 2566
.
การมอบรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพในปี 2567 จะมีการมอบรางวัลในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยในงานดังกล่าว มูลนิธิสัมมาชีพ จะมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ และ รางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!