“ออสซีโอแล็บส์” บริษัท Spin-off มจธ. เตรียมขึ้นแท่น Innovative SMEs หลังคว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 รองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ผนวกกับ ศาสตร์ด้านวิศวกรรม เพื่อประดิษฐ์สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ มุมมองที่ผมคิดว่าเป็นการเรียนวิศวกรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะวิศวกรรมเครื่องกล ที่เราอยากเปลี่ยน mindset ของเด็กที่มักคิดว่า วิศวกรรมเรียนแล้วไปทำอะไร เรียนไปทำไมยาก ๆ เรียนไปไม่ได้ใช้ประโยชน์ จนกลายเป็นสิ่งที่ฝังใจคนเรียนวิศวฯ” 

“ออสซีโอแล็บส์” จัดตั้งขึ้น ณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นบริษัท Spin-off ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของ ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มองเห็นโอกาสในการนำศาสตร์ความรู้ด้านวิศวกรรมมาพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเทคโนโลยีหลักที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรูพรุนพิเศษแบบ Triply Periodic Minimal Surface (TPMS) ในการออกแบบอุปกรณ์การแพทย์ หรือ วัสดุปลูกถ่ายประเภทโลหะที่น้ำหนักเบา ความแข็งแรงสูง และมีลักษณะภายในที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกระดูก โดยโครงสร้าง TPMS เป็นโครงสร้างรูพรุนที่ขึ้นรูปด้วยสมการคณิตศาสตร์รูปแบบต่าง ๆ 

จากผลงานวิจัยวัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะที่ ใช้องค์ความรู้ทางด้านเครื่องกลและเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในการออกแบบและขึ้นรูป มีแนวโน้มความต้องการและขยายตัวมากขึ้น สามารถนำไปสู่การทำธุรกิจได้ในอนาคต จึงได้จับมือกับ ดร.วิกรม อาฮูยา อดีตผู้ร่วมงานและผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสตาร์ทอัพ จัดตั้ง “ออสซีโอแล็บส์” ขึ้นในปี พ.ศ. 2565 เพื่อผลักดันงานวิจัยไทยที่มีศักยภาพระดับสากลต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากการเป็นบริษัทเพื่อดำเนินการด้านธุรกิจอย่างเต็มตัวแล้ว ออสซีโอแล็บส์ ยังเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการเติบโตของนักศึกษาด้านวัสดุศาสตร์ ของ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ใช้เป็นพื้นที่ที่นักศึกษาได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา เพื่อลงมือทำในฐานะนักปฏิบัติ ผู้ช่วย หรือ นักวิจัยของบริษัท นอกเหนือจากประสบการณ์ในห้องเรียน ออสซีโอแล็บส์ ยังส่งเสริมและสนับสนุนในการหาประสบการณ์และโอกาสจากแหล่งอื่น ๆ เปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักศึกษา หรือ อาจเรียกได้ว่า “ออสซีโอแล็บส์ คือ พื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่” ที่มีประสิทธิภาพสู่สังคม เศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมของประเทศ

ผศ.ดร.พชรพิชญ์ กล่าวถึงสาเหตุที่จัดตั้ง ออสซีโอแล็บส์ ว่า ทุกภาคอุตสาหกรรม หรือแม้แต่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ส่วนใหญ่ และอุปกรณ์ที่แพทย์ใช้ในห้องผ่าตัดเป็นศาสตร์ของเครื่องกล โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาสูงที่ใช้กันอยู่ในประเทศส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ คำถาม คือ ถ้าเราสามารถผลิตได้เองในประเทศ จะสามารถประหยัดเงินได้มากกว่าไหม และเราสามารถคิดต่อไปอีกว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบันสามารถพัฒนาต่อได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่เราผลิตเองให้หน้าตารูปแบบเหมือนบริษัทอื่น แต่สามารถทำการต่อยอดให้มีรูปแบบของเราเอง ได้ใช้เอง และมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าของที่นำเข้า ผมมองว่า เราเองมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะสามารถทำตรงนี้ได้ ส่วนคำถามที่ว่า เรียนแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น หากนักศึกษาได้ลงพื้นที่ เช่น การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เราก็ต้องไปคุยกับคุณหมอ เข้าห้องผ่าตัด ให้เขาเห็นว่า สิ่งที่เขากำลังทำมันเกิดประโยชน์อย่างไร และการทำเรื่องหนึ่งให้สำเร็จ เราไม่ได้มีเพียงศาสตร์ด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ต้องใช้ความรู้หลายแขนงร่วมกัน 

ที่สำคัญ ที่นี่ยังสอนให้รู้ว่า เรื่องที่เขาทำสามารถสร้างได้ทั้งคุณและโทษ เพราะถ้าทำงานไม่เรียบร้อยหมอ และคนไข้ คือ คนที่จะได้รับความเดือดร้อน ส่งผลกระทบกับชีวิตคนจริง ๆ ดังนั้น นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่ได้เข้ามาทำในออสซีโอแล็บส์ จะถูกสอนให้มีความรับผิดชอบ และให้เห็นว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้น มีผลกระทบต่อผู้ใช้งานอย่างไร ถ้าเราทำไม่ดี คนที่รับผลกระทบจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สอนกันในห้องเรียนไม่ได้ ปัจจุบันไม่มีนักศึกษาที่แล็บคนไหนตั้งคำถามว่า เรียนแล้วไปทำอะไรอีกเลย หรือ เรียนไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะทุกคนได้ลงมือทำ และการได้เห็นสิ่งที่ทำไปเกิดประโยชน์ทั้งกับคนอื่น และตนเอง ต่อไปเขาก็สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปทำเรื่องอื่น ๆ เช่น ไปเป็นผู้ประกอบการ หรือ ออกไปทำ Startup ได้ ซึ่งปัจจุบันแล็บแห่งนี้ สามารถสร้างผู้ที่มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ออกไปแล้วกว่า 25 คน”

จุดเด่นของ ออสซีโอแล็บส์ คือ 1. องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก 2. ทรัพยากร (resources) ทั้งบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ และ ทักษะที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย และ 3. แม้ มจธ. ไม่มีคณะแพทย์ แต่ความโดดเด่นทางด้านวิศวกรรม ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมงานด้วย และมีหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการวิจัยพัฒนาจากที่ได้มีโอกาสพัฒนาโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ร่วมกับ สถาบันต่าง ๆ เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อยกระดับคุณภาพของการรักษา ผ่านนวัตกรรมทางด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการขึ้นรูปวัสดุที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ปัจจุบันมีผลงานตีพิมพ์ใน Scopus ทั้งหมด 40 เรื่องและมีการอ้างอิงมากกว่า 1,000 ครั้ง นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ได้จดสิทธิบัตร จำนวน 16 ชิ้น ในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา ผศ. ดร.พชรพิชญ์ กล่าว 

ล่าสุด บริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจ ประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย จากเวทีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากผลงาน “อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการพิมพ์สามมิติ” เมื่อต้นเดือนตุลาคม และยังได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 บริษัท จาก NIA ในโครงการ Unicorn Factory Thailand ให้เข้าร่วมงาน TechCrunch Disrupt 2024 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดตัวบริษัทของไทยที่มีศักยภาพในต่างประเทศ ส่งเสริมการขยายตัวและสร้างเครือข่ายการทำธุรกิจของบริษัทของไทยช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

ด้าน นายคณิต มงคลพันธุ์ นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หนึ่งในนักวิจัยออสซีโอแล็บส์ กล่าวถึงผลงาน “อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการพิมพ์สามมิติ” ว่า เป็นอีกผลงานวิจัยที่บริษัทสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นธุรกิจ และสามารถขยายผลไปสู่การผลิตได้จริออสซีโอแล็บส์ ไม่เป็นเพียงแค่แล็บวิจัยเพื่อขายของ แต่เป็นบริษัทที่เกิดขึ้นได้ด้วยการเป็น Research based เพราะฉะนั้นการที่บริษัทอยู่ได้ และขยายต่อไปเรื่อย ๆ ก็เป็นเพราะเรามีการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และสามารถชูงานวิจัยในประเทศให้สามารถขยายได้ในระดับโลก ส่วนตัวคิดว่า งานวิจัยในประเทศไทยสามารถที่จะยกระดับขึ้นไปถึงระดับสากลได้ แม้จะติดปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องเงินทุน ทำให้บางงานไม่สามารถยกระดับขึ้นไปได้ แต่ความสามารถของ ออสซีโอแล็บส์ ที่นี่ คิดว่าเป็นงานวิจัยที่เราสามารถจะขอทุนมาสนับสนุนให้งานวิจัยสามารถพัฒนาให้ออกมาจับต้องเป็นรูปธรรมได้ 

งานวิจัยเราสามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยทั่วประเทศและต่างประเทศ สามารถเข้าถึงการรักษาแบบนี้ได้ เมื่อเราทำสเกลให้ใหญ่ขึ้น เพื่อลดต้นทุนลง ก็จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ซึ่งการทำงานที่นี่ยังเป็นการตอบโจทย์เราในฐานะวิศวฯ กับคำถามที่ว่า เรียนมาแล้วไปทำประโยชน์อะไร เพราะเห็นอยู่แล้วว่า สิ่งที่เรียนมาทำประโยชน์อะไรได้ และจากเดิมที่เคยคิดว่า เรื่องแพทย์กับวิศวกรรมเป็นคนละศาสตร์กัน แต่ปัจจุบันมัน คือ พหุศาสตร์ที่เรานำความรู้ด้านวิศวกรรมร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ มาพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาคนไข้ได้มากขึ้น” 

RANDOM

แบรนด์ซุปไก่สกัด จับมือ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ขยายเวลาประกวดออกแบบลายเสื้อ “Give Blood Gives Lives…พลังเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่” ในโครงการ “แบรนด์…พลังเลือดใหม่ ต่อพลังชีวิต 2567” ชิงทุนการศึกษา พร้อมเกียรติบัตร หมดเขตสมัคร 31 ส.ค.นี้

NEWS

ประกวดภาพถ่าย ร่วมฉลอง 60 ปี ม.เชียงใหม่ ในโครงการ “ภาพแห่งความทรงจำ ความสวยงามที่ยั่งยืนผ่านเลนส์” หัวข้อ “ภาพแห่งความทรงจำ ความสวยงามที่ยั่งยืนผ่านเลนส์” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 140,000 บาท ส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 20 ธ.ค. 2567

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!