นักวิชาการด้านการศึกษา ม.ขอนแก่น เผย การเรียนรู้เชิงประจักษ์ เป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษายุคใหม่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในยุคใหม่ ควรเน้นให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำได้ด้วยวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากมาย เพียงแค่ปรับรูปแบบให้เหมาะสม และได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากบุคคลากรในโรงเรียนเท่านั้น วิธีการเรียนรู้มากมายที่ได้ถูกพิสูจน์เชิงประจักษ์แล้วว่า มีประสิทธิภาพสูง และไม่มีประสิทธิภาพ คือ 1) ใช้การฝึกนึกความรู้เดิม และหลีกเลี่ยงการอ่านซ้ำ 2) ใช้การเรียนรู้แบบเว้นช่วง และหลีกเลี่ยงการเรียนแบบอัด และ 3) ใช้การเรียนรู้แบบสลับ และหลีกเลี่ยงการเรียนแบบเป็นก้อน ซึ่งประเด็นดังกล่าว เป็นสิ่งที่ทางรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD และ มูลนิธิอานันทมหิดล เห็นว่า มีความน่าสนใจ และเป็นตัวเลือกที่จะนำมาปรับใช้ในสถานศึกษา

ผศ.นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีความสนใจด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ จนได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศอเมริกา กล่าวว่า ผมคิดว่าการศึกษาไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีการนำเรื่องการเรียนรู้เชิงประจักษ์มาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวฯ เป็นการเรียนรู้ที่จะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน มีการวิจัยว่า รูปแบบการศึกษาแบบไหนที่จะทำให้ได้ผล จะช่วยพัฒนาผู้เรียน เพิ่มสมรรถนะและประสิทธิผล เมื่อเรียนจบไปจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีดังกล่าว ได้แก่ 1) การเรียนรู้แบบฝึกนึก คือ ไม่ใช่อ่านเนื้อหาที่เคยเรียนไปแล้วซ้ำ แต่ให้ฝึกนึกความรู้ที่เคยเรียนไปแล้วออกมา เพราะเป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องทำจริงในการแก้ปัญหา 2) การเรียนรู้แบบเว้นช่วง คือ ไม่ใช่การอัดเนื้อหามาก ๆ ในเวลาสั้น ๆ แต่เป็นการศึกษาเรื่องเดิมซ้ำ หลังจากเวลาผ่านไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำเนื้อหาได้มาก และนานขึ้น 3) การเรียนรู้แบบสลับ คือ การเรียนรู้เนื้อหา หรือ โจทย์ปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่เหมือนกัน ไปพร้อม ๆ กัน เพราะสามารถฝึกผู้เรียนให้ระบุความเหมือนและความแตกต่างระหว่างเนื้อหาได้ ช่วยให้ผู้เรียนแยกแยะประเด็น และทำความเข้าใจได้มากขึ้น

ต้องยอมรับว่า เมื่อเป็นหน่วยงานทางราชการ การเคลื่อนที่จะไม่เร็วเท่ากับภาคเอกชน แต่ข้อดี คือ เมื่อเป็นกฎเกณฑ์ขององค์กรแล้ว ก็ต้องมีการปฎิบัติอย่างถ้วนหน้า ในเรื่องการเรียนรู้เชิงประจักษ์ก็เช่นกัน เมื่อมีการทดสอบเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ จะพบว่า ในประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลประเมินที่ดีนั้น ใช้วิธีเหล่านี้ในหลักสูตรการเรียน ดังนั้น หากเรามีนโยบายผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้ผู้สอนได้รู้จักวิธีการเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ ก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี

ด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 กล่าวว่า จากประสบการณ์ของตัวเอง ในสมัยเรียนหนังสือ จะใช้ Flash cards สำหรับท่องศัพท์ต่าง ๆ โดยด้านหน้าจะเขียนคำศัพท์ ส่วนด้านหลังจะเขียนความหมาย พร้อมประโยคที่ใช้ ซึ่งจะสามารถพกติดตัวไปได้ตลอดเวลา ทำให้เราสามารถสลับนึกคำศัพท์ เห็นคำไทยต้องนึกคำอังกฤษ เห็นคำอังกฤษต้องนึกคำไทย เป็นตัวอย่างของการฝึกนึก เกิดการเรียนรู้กับตัวเอง เหมือนเล่นเกม มีความสนุกสนาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าว ทางผู้ปกครองสามารถตัดกระดาษ และเขียนคำศัพท์ขึ้นมาทำได้เองที่บ้าน ซึ่งเป็นเทคนิคง่าย ๆ เป็นแนวทางว่า ทำอย่างไรให้เด็กเก่ง สิ่งสำคัญ ก็คือ การปรับประยุกต์เทคนิคให้เข้ากับบุคลิกของผู้เรียน เพราะผู้เรียนแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนเรียนรู้จากสี, คำ หรือ สูตรเลข จินตคณิต เป็นเทคนิคเรียนรู้ในสมองที่ไม่เหมือนกัน การเรียนรู้แบบไหนที่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ผู้เรียนที่เก่ง โดยมีวินัยในการฝึกฝนเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการเรียนรู้เชิงประจักษ์เพิ่มเติม สามารถไปชมคลิปการสัมภาษณ์ได้จากรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอน ความฝันอันสูงสุด เรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD และ มูลนิธิอานันทมหิดล จัดทำขึ้นที่ https://www.youtube.com/watch?v=-XUfZYnQps8&t=738s ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

RANDOM

NEWS

ประกวดภาพถ่าย ร่วมฉลอง 60 ปี ม.เชียงใหม่ ในโครงการ “ภาพแห่งความทรงจำ ความสวยงามที่ยั่งยืนผ่านเลนส์” หัวข้อ “ภาพแห่งความทรงจำ ความสวยงามที่ยั่งยืนผ่านเลนส์” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 140,000 บาท ส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 20 ธ.ค. 2567

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!