ครั้งแรก ของประวัติศาสตร์ องค์กร กกท.ที่สหภาพแรงงาน รวมตัวขับไล่ ‘ผู้ว่าการ กกท.’ ให้พ้นตำแหน่ง และก็สำเร็จ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

   10 เมษายน 2533 ที่อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก ภายใน กกท.ได้มีการชุมนุมประท้วง ฝ่ายบริหาร ของสหภาพแรงงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)  กว่า 100 คน นำโดย นายนิวัฒน์ เฑียรเจริญ ประธานสหภาพแรงงาน กกท.ในยุคนั้น

    ณ วันนั้น นับเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีการก่อตั้ง องค์กรแห่งนี้มา 23 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ที่เป็นองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย และ ปี พ.ศ.2519 เปลี่ยนเป็นการกีฬาแห่งประเทศไทย และหลังจากตั้งสหภาพแรงงาน กกท.เพียง 3 ปี เท่านั้น

ภาพของการรวมพลของสหภาพ กกท.

     โดยเหตุผลการชุมนุมคือทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยใน ยุคนั้นคือ นายไพบูลย์ วัชรพรรณ ที่ไม่ได้จัดสรรตำแหน่งพนักงานตามโครงสร้างใหม่ และการพิจารณาขึ้นเงินเดือนของพนักงานที่ล่าช้า ตั้งแต่ ก.ค.2532 เป็นต้นมา ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่นๆ นั้นได้ทำกันไปแล้วหลังจากรัฐบาลอนุมัติให้ปรับเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ ด้วยการปรับปรุงบัญชีล่วงหน้าและสามารถปรับได้ทันที ในเดือน ต.ค.2532 แต่ กกท.ผ่านไป 7 เดือน มีการทวงถามฝ่ายบริหารแล้วแต่ได้รับคำตอบเพียงว่าให้รอไปก่อน

     ในเหตุการณ์นั้นต่อมาตัวแทนสหภาพแรงงาน กกท.ก็เดินทางไปที่หน้าห้องผู้ว่าการ กกท.และ นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส ตำแหน่งตอนนั้นคือ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ กกท. ได้เข้าชี้แจงต่อตัวแทนสหภาพที่เป็นพนักงานของ กกท. ว่าการปรับต่างๆ ต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่เป็นผล จากนั้น นายไพบูลย์ ผู้ว่าการ กกท.ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า เพิ่งได้รับเรื่องการเสนอปรับขึ้นเงินเดือน พนักงาน กกท.ทั้งหมดกว่า 400 คน เมื่อ 5 เม.ย.นี้เอง และขอเวลาพิจารณาก่อนจะเร่งเสนอกระทรวงการคลัง ซึ่งตัวแทนสหภาพแรงงาน กกท.พอใจและจะรอการดำเนินการ

     วันที่ 11 เม.ย.2533 ภาคเช้าได้มีการแจ้งจากฝ่ายคลัง กกท.ให้พนักงานของ กกท.ทั้งหมดไปรับเงินตกค้างของอัตราขั้นที่ได้เพิ่มตั้งแต่ ต.ค.2532 โดยนายไพบูลย์ ผู้ว่าการ กกท.ได้อนุมัติยืมเงินคงคลังของ กกท.มาจ่ายก่อนเพื่อลดปัญหาความวุ่นวาย ซึ่งสร้างความยินดีต่อพนักงาน กกท. แต่ในภาคบ่าย ได้มีคำสั่งลงวันที่ 10 เม.ย.2533 และประกาศ 11 เม.ย.2533 เป็นคำสั่ง กกท.ลงนามโดย นายไพบูลย์ วัชรพรรณ ระบุว่า เรื่องให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ ด้วยเห็นสมควรให้ นายนิวัฒน์ เฑียรเจริญ ช่าง 4 งานช่าง (ที่เป็นประธานสหภาพแรงงาน กกท.) ไปปฏิบัติหน้าที่แทนนายขวัญใจ อิศรางกูร ณ อยุธยา ช่าง 3 สำนักงาน กกท.สาขาสมุทรปราการ

     การย้าย นายนิวัฒน์ จากช่าง 4 ลงไปเป็นช่าง 3 เป็นที่ไม่พอใจทางสหภาพแรงงาน กกท.ที่กำลังจะเลิกราการชุมนุมประท้วง จึงนัดสมาชิกชุมนุมต่อในวันที่ 17 เม.ย.2533 หลังจากหยุดสงกรานต์แล้ว

     และหลังจากการชุมนุมแล้วนั้น สหภาพแรงงาน กกท.ในช่วงนั้นได้แรงหนุน จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเพราะมองว่าการย้ายประธานสหภาพแรงงานของ กกท.ไม่เป็นธรรม ซึ่งได้มีการส่งตัวแทนเข้าพบกรรมการบอร์ด กกท.หลายท่านเพื่อให้ช่วยพิจารณา และบทสรุปวันนั้นคือ ทางสหภาพแรงงาน กกท.ได้ยื่นการเรียกร้องคือ 1.ให้ฝ่ายบริหารยกเลิกคำสั่งย้าย นายนิวัฒน์ 2.ให้พิจารณาย้ายในไพบูลย์ วัชรพรรณ ผู้ว่าการ กกท.พ้นตำแหน่ง และ 3.ไม่ให้ถือว่าการกระทำของสหภาพแรงงาน กกท.เป็นผิด

      วันที่ 18 เม.ย.2533 ตัวแทนของสหภาพแรงงาน กกท.ได้เข้าพบ พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ในตอนนั้น เพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งพลเอกเทียนชัย รับปากที่จะเรียกประชุมฉุกเฉินบอร์ด กกท.ในวันที่ 23 เม.ย.2533 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

     วันที่ 19 เม.ย.2533 ได้มีหนังสือคำสั่ง นายไพบูลย์ ผู้ว่าการ กกท.ระงับคำสั่งตัวเองที่ย้ายนายนิวัฒน์

     วันที่ 23 เม.ย.2533 บอร์ด กกท.นำโดยพลเอกเทียนชัย มีมติย้ายนายไพบูลย์ จากผู้ว่าการ กกท. ไปช่วยราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ตั้งแต่ 24 เม.ย.2533 เป็นต้นไป พร้อมให้สำนักงานปลัดฯ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรม และแต่งตั้ง ดร.สมชาย ประเสริฐศิริพันธ์ รองผู้ว่าการ กกท. เป็นรักษาการแทนผู้ว่าการ กกท.

     วันที่ 25 เม.ย.2533 พันเอกพล เรืองประเสริฐวิทย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล กกท. แถลงกับสื่อมวลชนที่ศูนย์แถลงข่าวของรัฐบาล ระบุว่ามติของบอร์ด กกท.นั้นไม่ถูกต้อง เพราะบอร์ด กกท.ไม่มีอำนาจที่จะสั่งย้ายผู้ว่าการ กกท.มีแต่มีอำนาจปลดเมื่อพบผิดเท่านั้น เหมือนกับตนเองที่เป็นรัฐมนตรีที่กำกับ กกท.ก็ไม่มีอำนาจย้าย แล้วที่สำคัญบอร์ด กกท.ชุดนี้เป็นบอร์ด รักษาการเท่านั้น ณ เวลานี้นายไพบูลย์ จึงยังเป็นผู้ว่าการ กกท.อยู่

     ต่อมาตัวแทนสหภาพแรงงาน กกท.พยายามขอเข้าพบเพื่อขำคำชี้แจง ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าพบพันเอกพลได้ โดยรายงานข่าวต่อมาคือ พันเอกพล ยังยืนยันแนวคิดตนเองคือ ผู้มีสิทธิ์ย้ายได้คือตัวเอง ไม่ใช่บอร์ด กกท. ขณะที่ นายไพบูลย์ ยังทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการ กกท.เป็นปกติ เพราะพันเอกพล ไม่ได้มีการดำเนินการต่อตามที่บอร์ด กกท.เสนอมา

      แต่ด้วยปัญหาในการดูแล กกท.ที่ ‘พันเอกพล’ ไม่เห็นด้วยหลายเรื่อง เนื่องจากสายงานของตนเองที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เสนอ หรือมีแนวคิดใด จะต้องผ่าน พลเอกเทียนชัย ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับดูแลกีฬา ซึ่งหลายเรื่องการนำเสนอไม่เป็นผล และไม่ได้รับความสนใจ เช่น เรื่องการย้ายผู้ว่าการ กกท. การที่เสนอแต่งตั้งบอร์ด กกท.ชุดใหม่ แทนชุดเก่าจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็ไม่เป็นผล

      วันที่ 6 มิ.ย.2533 พันเอกพล ได้เข้าพบพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องอำนาจหน้าที่ และไม่ได้รับคำตอบที่พอใจ จึงขอถอนตัวจากการเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแล กกท.

     วันที่ 26 มิ.ย.2533 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ชุดใหม่ และนายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้ พลเอกเทียนชัย รองนายกรัฐมนตรี ให้กำกับดูแลกีฬาของชาติแทน และยังได้เป็นประธาน บอร์ด กกท.ต่อไป พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีก็มอบหมายงานดูแล กกท.ให้ นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทน พันเอกพล

     วันที่ 20 ก.ค.2533 หนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล สส.ของฝ่ายค้าน คือนายแพทย์ ประสิทธิ์ พิทูรกิจจา สส.นครสวรรค์พรรคเอกภาพ ได้อภิปรายถึงบทบาทของรัฐที่ตั้งรองนายกรัฐมนตรีจากอีกพรรค และตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกพรรคมาดูแลกีฬา เป็นปัญหาอย่างมากในการบริหารจัดการแม้แต่เรื่องย้ายผู้ว่าการ กกท. จึงทำให้คนที่เกี่ยวข้องสับสน

     วันที่ 23 ก.ค.2533 เป็นการประชุมบอร์ด กกท.ชุดใหม่ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ โดยมีพลเอกเทียนชัย นั่งเป็นประธานกรรมการบอร์ด ซึ่งประเด็นที่ถูกจับตาก็สรุปว่า บอร์ด กกท.มีมติปลดนายไพบูลย์จากตำแหน่งผู้ว่าการ กกท. โดยสรุปความเห็นว่าที่ปลดเพราะ อยู่ในหน้าที่มานาน งานไม่เป็นที่น่าพอใจ งานไม่ก้าวหน้า และได้มีการตั้ง ดร.สมชาย ประเสริฐศิริพันธ์ รองผู้ว่าการ กกท.เป็นผู้ว่าการ กกท.แทน ส่วนนายไพบูลย์ นั้นไปนั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาที่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับกฎหมายเพื่อรองรับตำแหน่งนี้.

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!