ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทาง ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในอนาคต และเพื่อตอบโจทย์นี้ โครงการโคเซ็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) จึงได้ถูกริเริ่มขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากระบบการศึกษาญี่ปุ่น มุ่งสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ด้วยความร่วมมือกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JICA Thailand Office) เพื่อผลิตวิศวกร นักเทคโนโลยี และนวัตกรสำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กิจกรรม “KOSEN Thailand ODA Press Tour” ได้จัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) โดยมี นางคาวามูระ มากิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นายซัทชึยะ ซูซูกิ ผู้อำนวยการ JICA Thailand Office พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมชมความก้าวหน้าของโครงการในโอกาสเฉลิมฉลองความร่วมมือ 70 ปี สำหรับโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) ระหว่างไทยและญี่ปุ่น
(ซ้าย) นางคาวามูระ มากิ (กลาง) รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย (ขวา) นายซัทชึยะ ซูซูกิ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการ KOSEN KMUTT เป็นตัวอย่างของการพัฒนาระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นการเตรียมคนให้พร้อมสำหรับความต้องการในอนาคต นักเรียนของเราจะไม่เพียงแต่มีความรู้ในเชิงวิชาการ แต่จะมีทักษะที่สามารถปรับใช้ในสถานการณ์จริงได้ และจากผลงานที่ได้เห็นจะสะท้อนถึงศักยภาพของนักเรียนไทยที่พร้อมจะก้าวสู่การเป็นผู้นำในยุคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ด้าน นายซัทชึยะ ซูซูกิ ผู้อำนวยการ JICA Thailand Office กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ของความร่วมมือในโครงการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มุ่งมั่นสร้างนักศึกษาที่มีความรู้และทักษะที่ยอดเยี่ยม ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่สร้างผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจที่สะท้อนถึงศักยภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทางด้าน นางคาวามูระ มากิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ยังได้เน้นย้ำว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาในไทย แต่ยังเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ขณะที่ ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ KOSEN KMUTT ไม่ได้มุ่งหวังแค่ผลิตนักเรียนที่มีความรู้ทางวิชาการ แต่ยังเน้นสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง หลักสูตรของ KOSEN KMUTT ผสมผสานการเรียนรู้จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และ วิศวกรรมศาสตร์ พร้อมนำระบบ Project-Based Learning มาใช้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำโครงการจริงที่เชื่อมโยงกับปัญหาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่าน 3 หลักสูตร คือ 1. วิศวกรรมอัตโนมัติ (Automation Engineering) 2. หลักสูตร Bio Engineering และ 3. SMART Agri Engineering
“เราต้องการสร้างคนที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคตได้จริง ไม่ใช่แค่การสอนทฤษฎี แต่ยังให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อเรียนรู้วิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาจากโจทย์จริงของประเทศและภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างหนึ่งในความท้าทายที่เราเห็นในปัจจุบัน คือ การที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งมีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการชีวภาพมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และยกระดับสู่ภาคอุตสาหกรรม จึงมีหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ (Bio Engineering) ขึ้น ซึ่งเน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการชีวภาพและการแปรรูปทรัพยากรชีวภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ชีวเภสัชภัณฑ์ ยาชีววัตถุ และ สารตั้งต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกับ หลักสูตร SMART Agri Engineering ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้ตอบสนองต่อความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความต้องการอาหารรูปแบบใหม่ โดยเน้นการเรียนรู้ผสมผสานทั้งศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก การผลิตพืช ควบคู่ไปกับ ศาสตร์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ การใช้ระบบอัตโนมัติ และวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในการสร้างผลผลิตมูลค่าสูง และอาหารเฉพาะกลุ่ม ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะช่วยเสริมความรู้และทรัพยากรวิจัย เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรมร่วมกัน ผมเชื่อว่า หลักสูตรเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ “ ดร.ก้องกาญจน์ กล่าวถึงความสำคัญและผลกระทบจากหลักสูตร KOSEN KMUTT
หนึ่งในจุดเด่นของโครงการ คือ ระบบการฝึกงานที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดยนักเรียนจะได้ฝึกงานในรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (Work Integrated Learning, WiL) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน ภายใต้การดูแลของอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่าง ๆ ระบบนี้จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานที่ทำงานจริง พร้อมกับการพัฒนางานวิจัยและพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จในโลกของการทำงานยุคใหม่
โครงการ KOSEN KMUTT เป็นตัวอย่างสำคัญของการพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์อนาคต ผ่านความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น โครงการนี้ไม่เพียงเน้นการสร้างบุคลากรที่มีความรู้เชิงวิชาการและทักษะการปฏิบัติ แต่ยังเชื่อมโยงการเรียนรู้กับปัญหาในภาคอุตสาหกรรมจริง ด้วยระบบฝึกงานและหลักสูตรที่ออกแบบมาเฉพาะ ความร่วมมือดังกล่าวตอกย้ำถึงศักยภาพของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความก้าวหน้าและความยั่งยืนให้กับประเทศไทยในระดับโลก