The Station THAI ที่นี่มองว่าเรื่องการได้มาซึ่งผู้นำในคณะกรรมการโอลิมปิคไทย เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับวงการกีฬาไทย ก็เลยนำที่มาก่อนที่จะได้ตัวบุคคลผู้นั้น โดยการอ้างอิงจาก ธรรมนูญข้อบังคับ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.2564 ที่ถือเป็นล่าสุด ที่ได้รับการอนุมัติรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC แล้ว
เริ่มต้นจากต้องทราบว่าใครที่จะเป็นผู้เลือก ซึ่งในข้อบังคับฯ หมวด 4 ระบุไว้ว่า สมาชิกในสมัชชาใหญ่คือคนที่มีสิทธิออกเสียงเลือก จำนวน 50 คน โดยจะมาจาก 1.นายกสมาคมกีฬาหรือผู้แทนนายกสมาคมกีฬา ที่ได้รับการรับรองตามธรรมนูญข้อบังคับฉบับนี้ มีจำนวน 37 คน (จาก 37 สมาคมกีฬาที่ได้รับการรับรอง) 2.กรรมการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ในประเทศไทย จำนวน 1 คน 3.ผู้แทนนักกีฬา ที่ได้รับการเลือกจากชมรมนักกีฬาโอลิมปิกไทย จำนวน 2 คน และ 4.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้เลือกตั้งไว้แล้ว (ชุดเดิม) จำนวน 10 คน…โดยการเลือกตั้งกรรมการบริหาร และการจะได้มาซึ่งประธานโอลิมปิคไทยนี้ จะเป็นการออกเสียงในการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ ที่กำหนดไว้คือทุก 4 ปี
ที่ประเทศไทยกำลังจะมีขึ้น วันที่ 25 มีนาคม 2568 นี้
โดยลำดับง่ายๆ ของการเลือกตั้งกรรมการบริหารและตำแหน่งสำคัญของคณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ ก็คือ เริ่มจากในการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ เมื่อมีขึ้นแล้ว ก็จะมีขั้นตอนดังนี้
1.สมาชิกสมัชชาใหญ่ ทั้ง 50 คนนั้น เสนอชื่อบุคคลได้คนละ 1 ชื่อ เพื่อเป็นกรรมการบริหาร โดยในส่วนของสมาคมกีฬาที่เป็นสมาชิก (37 สมาคม) จะเสนอชื่อนายกสมาคม หรือตัวแทนนายกสมาคม ก็ได้ (ยกเว้นจะเสนอชื่อกรรมการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ในประเทศไทยไม่ได้) และ จะเลือกผู้เหมาะสมตามที่มีการเสนอกันเอง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ของคณะกรรมการบริหารฯ อีก ไม่เกิน 10 คน แทนผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิม
2.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิก 50 คนนั้น ทั้งจากตัวแทนสมาคมกีฬา และผู้ทรงคุณวุฒิ หากตัวแทนสมาชิกที่เป็นสมาคมกีฬา มีการเสนอจำนวนเกิน 23 คน ก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งโดย 50 คนที่เป็นสมาชิก เพื่อให้ได้จำนวน 23 คน เพราะตามข้อบังคับ หมวดที่ 6 ข้อ 6.4 ที่ว่าด้วยการได้มาของกรรมการบริหาร ซึ่งระบุไว้ชัดๆ ว่าทั้งหมดจะมีจำนวน 25 คน ประกอบด้วย ผู้ที่ถูกเลือกจากการเลือกตั้ง โดย 50 สมาชิกนี้ จำนวน 23 คน ไปรวมกับคนที่ข้อบังคับระบุไว้ 2 คน ที่ต้องร่วมเป็นกรรมการบริหาร โดยตำแหน่งคือ 1 คน จาก กรรมการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ในประเทศไทย และ 1 คน จากการเลือกกันเองเข้ามา ของสมาชิกชมรมนักกีฬาโอลิมปิกไทย..เช่นเดียวกันกับการเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าเสนอเกิน 10 คน ก็ต้องคัดให้เหลือ 10 คน
3.จากนั้นทั้ง 25 คนนี้ที่จะเรียกว่าเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่แล้ว (ไม่เกี่ยวกับผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่) จะเป็นผู้เลือกภายในกันเองร่วมกัน จำนวน 16 คน จาก 25 คนนี้ เป็นตัวแทนไปทำงานใน 16 ตำแหน่งต่างๆ คือ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย 1 คน รองประธาน 8 คน เลขาธิการ 1 คน รองเลขาธิการ ไม่เกิน 4 คน เหรัญญิก 1 คน ผู้ช่วยเหรัญญิก 1 คน ต่อไป
……………………………………………………….
มาดูรายชื่อ 50 สมาชิกสมัชชาใหญ่ โอลิมปิคไทย ที่จะมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งในการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ ที่ว่าด้วยการได้มาของคณะกรรมการบริหารโอลิมปิคไทย และสำคัญคือประธานโอลิมปิค จะประกอบด้วย
สมาคมกีฬาที่เป็นสมาชิกตามธรรมนูญ ปี 2564 (หากไม่มีการเพิ่มเติมแบบด่วน) ประกอบด้วย กรีฑา ตะกร้อ ยิงธนู แบดมินตัน วอลเลย์บอล ฟุตบอล ยิมนาสติก ฮอกกี้ ยูโด ยิงเป้าบิน กีฬาทางน้ำ โบว์ลิ่ง ลอนเทนนิส เทเบิลเทนนิส จักรยาน เรือใบ ยกน้ำหนัก มวยปล้ำ ฟันดาบ ซอฟท์บอล ขี่ม้า เบสบอล ไตรกีฬา เรือพาย เทควันโด แฮนด์บอล ฟิกเกอร์สเก๊ต ฮอกกี้น้ำแข็ง กอล์ฟ บาสเกตบอล มวยสากล ยิงปืน รักบี้ฟุตบอล ปัญจกีฬา สกีและสโนว์บอร์ด ขี่ม้าโปโล และ ปีนหน้าผา พร้อมทั้งอีก 3 คนที่เป็น กรรมการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ในประเทศไทย 1 คน คือ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล และอีก 2 คนจากการเลือกเข้ามาเป็นตัวแทนของชมรมนักกีฬาโอลิมปิกไทย จะรวมเป็น 40 คน 40 เสียง
ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน ที่มีสิทธิออกเสียงได้ จะประกอบด้วย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ศ.(พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน, รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต, ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา, พ.ต.อ.โกวิทย์ จิรชนานนท์, นายปิติ ภิรมย์ภักดี, นายณัฐวุฒิ เรืองเวส, นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายภัคพล งามลักษณ์ และอีก 1 คน จากการเลือกตั้งเมื่อ 1 พ.ย.2564 จะเป็นชื่อของ พล.อ. ณัฐ อินทรเจริญ แต่การเช็คจากข้อมูลในเว็บไซต์ และหนังสือทำเนียบนักกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ล่าสุด จะเป็นชื่อของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา