กรมสุขภาพจิต สะท้อนสถานการณ์ความเครียดในประเทศไทย “วัยรุ่น” เครียดกว่า “วัยทำงาน” 4 เท่า ระดับความเครียดที่พอเหมาะ จะเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์ทำงานประสบความสำเร็จ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“ความเครียด” เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยไม่เลือกเพศ วัย หรือ อาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมในยุคปัจจุบันที่มีความเร่งรีบ หรือ ในสภาวะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรับรู้เรื่องราวข่าวสารในทางลบที่มากเกินไปจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ สภาพเศรษฐกิจที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียดได้ หรือ แม้แต่สังคมแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนใด ๆ ที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ หากแต่ภายในห้องเรียน ทั้งคุณครูและนักเรียนอาจกำลังมีความเครียดด้วยกันทั้งสองฝ่าย ครูอาจเครียดจากการเตรียมการสอน การประเมินผลงานของตนเอง การจัดการชั้นเรียน นักเรียนเองก็อาจกังวลเรื่องการบ้านที่ต้องทำ การสอบที่กำลังจะมาถึง ซึ่งความเครียดและความวิตกกังวล เป็นสาเหตุหนึ่งของการลาออกจากโรงเรียน

ความเครียด คือ สภาวะที่เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อบางส่วน หรือ ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ สำหรับสิ่งมีชีวิตทุก ๆ ครั้งที่เกิดความคิด หรือ มีอารมณ์ใด ๆ หรือ ที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ความเครียด คือ สภาวะที่ร่างกายตอบสนองทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่สมองของเรามองว่า เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ หรือ สภาวะที่ยากลำบาก โดยเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของมนุษย์

ความเครียด แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

– ความเครียดเฉียบพลัน (acute stress) เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น การตกใจเมื่อได้ยินเสียงดัง ความเครียดชนิดนี้ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เอง เมื่อเวลาผ่านไป
– ความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) เป็นความเครียดที่สะสมเป็นเวลานาน เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาครอบครัวความเครียดชนิดนี้ ร่างกายกำจัดออกได้ยาก หากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตต่อไป

ความเครียดเป็นปฏิริยาตอบสนองตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่มุมมองในเรื่องความเครียดของแต่ละบุคคล ส่งผลที่แตกต่างกัน ระดับความเครียดที่พอเหมาะ จะเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์มีสมรรถภาพ (performance) ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ รวมไปถึงการทำความเข้าใจ “ความเครียด” ด้วยมุมมองใหม่ ๆ เช่น

– ความเครียดช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจ
– ความเครียดช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต และทำให้เราเติบโต
– ความเครียดช่วยพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง
– ความเครียด คือ ส่วนสำคัญของชีวิตที่มีความหมาย

ในทางกลับกัน ระดับความเครียดที่มากจนเกินไป จะส่งผลกระเทบในทางลบต่อบุคคลนั้น ๆ เป็นอุปสรรคและอันตรายต่อชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่าง ระดับความเครียด กับ สมรรถภาพในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ แสดงได้ดังกราฟ

ซึ่งการตอบสนองของร่างกาย อาจสามารถนำมาเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้น ที่ใช้ในการสังเกตความเครียดของตนเอง หรือ บุคคลรอบข้างได้ เช่น

– อารมณ์แปรปรวน
– พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
– นอนไม่หลับ
– เมินเฉย ละเลยหน้าที่ของตนเอง
– ป่วยง่าย เนื่องจากความเครียดที่มากจนเกินไป ทำให้ภูมิคุ้มกันตก
– กินน้อย หรือ มากเกินไป
– อาการทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นแรง เหงื่ออกมือ ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน ปวดศีรษะตื้อ ๆ
– น้ำหนักขึ้นลงอย่างรวดเร็ว
สามารถประเมินตนเองได้จากแบบทดสอบจากแหล่งต่าง ๆ เช่น กรมสุขภาพจิต

ดังนั้น เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เราต้องหาวิธีการจัดการกับความเครียดนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องรู้ว่าตนเองมีความเครียด หาสาเหตุของความเครียด และหาวิธีจัดการกับความเครียดนั้น สำหรับวิธีการทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในการจัดการกับความเครียดได้ เช่น

– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ/ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ/พักผ่อนให้เพียงพอ/กินอาหารดีมีประโยชน์
– ฝึกสติด้วยการฝึกสมาธิ หายใจลึก ๆ
– หาที่ปรึกษา เช่น การพูดคุยกับเพื่อน การพบจิตแพทย์
– กำจัด/หลีกเลี่ยงจากปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด
– ฟังเพลง/ฝึกจินตนาการสร้างภาพ
– เปลี่ยนบรรยากาศ/ทำกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง

เราไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากความเครียดได้ หากแต่การเปลี่ยนมุมมองในเรื่องความเครียด โดยใช้ความเครียดให้เป็นประโยชน์ และบริหารจัดการกับความเครียดเหล่านั้น ไม่ให้มีมากจนเกินไป คือ วิธีการรับมือที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุขได้

อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/Ks532

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!