บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สานต่อโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งที่ 47 นำคณะครูอาจารย์ และผู้สนใจ เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เพื่อเรียนรู้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ที่พลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งของภาคอีสาน ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 บนพื้นที่กว่า 13,000 ไร่ ได้รับการยกย่องให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่รวบรวมองค์ความรู้และการปฏิบัติจริงในด้านการพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ การฟื้นฟูป่า และการจัดการเกษตรกรรมเชิงบูรณาการ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน ศูนย์แห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ทดลอง และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรกรรมที่ทันสมัยแก่เกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูก การประมง และการเลี้ยงสัตว์ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้เป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการศึกษาดูงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังความตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนของการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งความแห้งแล้ง ป่าไม้เสื่อมโทรม น้ำแล้ง รวมถึงปัญหาความยากจนของประชาชน ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน การได้มาสัมผัสประสบการณ์ตรงนี้ จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุล และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง
เป็น 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานมีบทบาทสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรแบบองค์รวม อันเป็นต้นแบบการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่เชื่อมโยงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะได้สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การนั่งรถรางชมศูนย์ฯ เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อม และระบบการจัดการพื้นที่ รวมถึงการเยี่ยมชมห้องนิทรรศการที่ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนชาวจังหวัดสกลนคร กว่า 109 ครั้ง
หนึ่งในไฮไลท์สำคัญ คือ การเรียนรู้เรื่อง “สี่ดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน” ได้แก่ โคเนื้อภูพาน สุกรภูพาน ไก่ดำภูพาน และ กระต่ายดำภูพาน เป็นตัวอย่างของสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และการเลี้ยงดูที่ยั่งยืน ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้สัมผัสกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การทำผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวสกลนคร รวมถึงการทดลองทำผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ ธัญพืชอัดแท่ง และไอศกรีมจากไข่ผำ วัตถุดิบพื้นบ้านที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Super Food แห่งอนาคต
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้ร่วมกิจกรรม “ตักบาตร…รับรุ่งอรุณ” และ สักการะ “พระธาตุเชิงชุม” กราบ “หลวงพ่อองค์แสน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสกลนคร ณ วัดพระธาตุเชิงชุม และยังมีกิจกรรมจิตอาสา และการกุศล ได้แก่ การปล่อยไก่ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการปล่อยปลาเบญจพรรณ 9,999 ตัว เพื่อเป็นการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นมหาทานถวายเป็นพระราชกุศล รวมถึงการมอบหนังสือในโครงการ “อมรินทร์อ่านพลิกชีวิต” พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจาก มูลนิธิธรรมดี ให้แก่โรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี จ.สกลนคร ด้วย
สำหรับโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชาครั้งต่อไป ขอเชิญชวนครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 – 2 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทร. 099-397-5333 เฟซบุ๊ก ตามรอยพระราชา-The King’s Journey