เพื่อให้ลองพิจารณา…บันทึกทำเนียบประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ที่มีอยู่ ‘ถูกต้องไหม’ และมาดูกันว่า ก่อนจะนั่งเก้าอี้ใหญ่ องค์กรกีฬาที่สำคัญนี้ ผู้นำแต่ละคนวันนั้น มี ‘ฐานอำนาจ’ จากไหน !!! ในแต่ละยุค

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

     การอยากร่วมบันทึกถึงทำเนียบ ผู้นำหรือประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากข้อสงสัย เพราะจากการค้นข้อมูล ที่การบันทึกไว้ในแต่ละที่ รวมทั้งใน Website ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ  ถึงการลำดับ ทำเนียบบุคคลสำคัญ ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์กีฬาของไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องจดจำต่อๆ กันไปในอนาคต..มีข้อแตกต่างทั้งที่ควรเหมือนกัน

     จึงอยากร่วมมอง เพราะเชื่อว่า “สำคัญ” ต่อวงการกีฬาไทย

     The Station THAI ได้รวมรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเรื่อง “ช่วงเวลา-รายชื่อ” ผู้เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย มาเพื่อแลกเปลี่ยน จาก “ข้อมูลที่หาได้” ซึ่งทุกอย่างนี้ก็แล้วแต่ ผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ จะเชื่อถือ หรือเห็นตามหรือไม่ ก็ต้องให้พิจารณาเอง

     ขอเริ่มต้นชำระบันทึกทำเนียบ “ผู้นำบ้านอัมพวัน” ในจุดสำคัญที่เห็นมีจุดที่น่ามอง คือช่วงยุคเปลี่ยนผ่านจากพระยาจินดารักษ์ คนแรก มาเป็นจอมพล ประภาส จารุเสถียร คนที่สอง ซึ่งใน Website ของคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ระบุว่า พระยาจินดารักษ์ นั้นดำรงตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทย 4 สมัย (คือ2491-2496, 2496-2500, 2500-2504 และ 2504-2508) และ จอมพลประภาส มาเป็น ต่อ 2 สมัย (2508-2512 และ 2512-2516)

ข้อมูลจาก Website คณะกรรมการโอลิมปิคไทย

     แต่สิ่งที่ค้นพบทำให้อยากแลกเปลี่ยนเพื่อให้ผู้สนใจพิจารณา  และเป็นข้อมูลที่ค้นพบ มีอ้างอิง ชัดเจน (น่าเชื่อ) ดังนี้

     เริ่มต้นจากหนังสือ พระราชทานเพลิงศพของพระยาจินดารักษ์ 10 ต.ค.2509 ซึ่งระบุว่า ท่านดำรงตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทย 2491-2499 และทายาทได้เขียนถึงท่านว่า ในปลายปี 2501 ท่านได้ล้มป่วยลง เป็นอัมพาต การรักษาอาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตลงในวันที่ 10 มิ.ย.2509 นอกจากนี้ยังขออ้างอิงถึง การค้นพบจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 12 พ.ค.2501 ระบุคำสัมภาษณ์ เรื่องการริเริ่มที่จะจัดเซียพเกมส์ หรือกีฬาแหลมทองครั้งแรก ในปี 2502 นั้น ระบุผู้ให้สัมภาษณ์คือ พลโทประภาส จารุเสถียร และระบุตำแหน่งคือ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย

ข้อมูลจากหนังสืองานศพพระยาจินดารักษ์
การอ้างอิงจาก นสพ.ในยุคปี 2501

     และนอกจากนี้การจัดกีฬาเซียพเกมส์หรือแหลมทองครั้งแรก ปี 2502 พบว่าหนังสือพิมพ์ยุคนั้น ที่ค้นหาได้ ได้เขียนถึง จอมพลประภาส เป็นประธานโอลิมปิคไทยและเป็นประธานสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์แล้ว จากนั้นในเซียพเกมส์ครั้งที่ 2 ที่ร่างกุ้ง พม่า ปี 2504 จอมพลประภาส ก็ไปร่วมงานที่พม่า ในนามของประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย และในทำเนียบนักกีฬาครั้งนั้นก็ยืนยันชัด

     ซึ่งตามข้อมูลที่อ้างอิงข้างต้น ที่นี่จึงสรุปด้วยเชื่อว่า พระยาจินดารักษ์ ที่เป็นผู้นำคนแรกจะเป็นประธาน 2 สมัย และจอมพลประภาส ก็ควรถูกบันทึกว่า ท่านเป็นประธานโอลิมปิคไทย ตั้งแต่ 2500 หรือ 2501 ซึ่งเป็นสมัยแรกของท่าน แล้วจอมพลประภาส จะต้องเป็นประธาน 4 สมัย โดยสิ้นสุดการทำหน้าที่นี้ ใน ปี 2516 ค่อนข้างแน่นอน แต่สำหรับการบันทึกที่ข้ามผ่าน หรือน่าจะผิดพลาดนี้ มีอยู่ 2 เหตุผลให้คิดคือ ผิดต่อๆ กันมาเพราะข้อมูลที่หาได้น้อย และ สองคือ เจตนาลืม “จอมพลประภาส” กับหน้าที่นี้ เพราะ “การเมือง” แรงในยุคนั้น.

……………………………………

     สรุปเรื่องช่วงเวลาแต่ละยุคของผู้นำโอลิมปิคไทยไว้แค่นั้น ต่อมาเป็นเรื่องของที่มาของแต่ละคนที่เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือที่เรียกกันคุ้น ว่า “บ้านอัมพวัน” ถึงช่วงมารับตำแหน่ง มีฐานอำนาจจากไหนจึงได้รับการยอมรับ ให้เป็นผู้นำองค์กรกีฬาที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี เป็นหน้าตาของประเทศแห่งนี้

     ยุคเริ่มต้นมีองค์กรนี้ ปี 2491 ที่พระยาจินดารักษ์ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทยคนแรกตอนนั้น ดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคมรักบี้ กรีฑา เป็นอดีตอธิบดีกรมพลศึกษา (เป็นคนที่ 2 ต่อจากหลวงศุภชลาศัย) และมีตำแหน่งทางการเมืองคือ รมช.มหาดไทย ในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี…และตอนออกจากตำแหน่งประมุขบ้านอัมพวันนี้ คือป่วยหนัก

     ยุคเริ่มเข้าสู่ตำแหน่งของจอมพลประภาส ปี 2501 สมัยแรกนั้น ท่านเป็น รมว.มหาดไทย และต่อมาครองตำแหน่งได้นานหลายสมัย ด้วยเส้นทางทางการเมืองที่ท่านรุ่งเรือง โดยเป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.มหาดไทย เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสิ้นสุดตำแหน่งผู้นำบ้านอัมพวัน ในปี 2516 ด้วยเหตุทางการเมืองที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

     วันที่ 14 พ.ย.2516 ที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคไทย หรือที่เรียกว่าการประชุมสมาชิกสมัชชาใหญ่สามัญ ได้มีการเลือก “เสธ.ทวี” พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ขึ้นมาแทน จอมพลประภาส ด้วยในขณะนั้น เสธ.ทวี เป็น รมว.กลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นนายกสมาคมกีฬาฟันดาบ และดำรงตำแหน่งผู้นำบ้านอัมพวันมายาวนาน จนวันที่ 4 ก.พ. 2539 ท่านได้เสียชีวิต จึงพ้นจากตำแหน่งนี้ไปด้วยตามธรรมนูญระบุไว้

     วันที่ 21 ก.พ.2539 พลเอก สุรพล บรรณกิจโสภณ ขณะนั้น เป็นรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย คนที่ 1 ก็ได้รับการเลือกจากสมาชิก ให้เป็นผู้นำบ้านอัมพวันแทน เสธ.ทวี โดยมีวาระเพียง 1 ปี เท่าที่วาระของ เสธ.ทวี เหลืออยู่ และพ้นตำแหน่งนี้ไปเพราะหมดวาระ

     วันที่ 28 มี.ค.2540 “บิ๊กเหวียง” พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และนายกสมาคมกีฬามวยสากล ถูกเลือกเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทยคนใหม่ โดยไม่มีคู่แข่งขัน และ ที่ออกจากตำแหน่งนี้ในอีก 4 ปี ต่อมาเพราะ “ไม่ถูกเลือก”

     โดย การเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวัน วันที่ 21 มี.ค.2544 “บิ๊กเหวียง” ที่เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นประธานในการประชุมสมาชิกสมัชชาใหญ่สามัญ เพื่อเลือกตั้งผู้นำ ปรากฏว่าคะแนน “บิ๊กเหวียง” ที่ได้รับไม่พอที่จะเข้าเป็นคณะกรรมการบริหาร และจากนั้นคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จึงเลือก “บิ๊กอ๊อด” พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ขณะนั้นเป็น รมช.กลาโหม และนายกสมาคมว่ายน้ำ ซึ่ง บิ๊กอ๊อด อยู่ในตำแหน่งผู้นำบ้านอัมพวัน รวม 4 สมัยก่อนอำลาด้วยเหตุคือ พ้นจากตำแหน่งนายกสมาคมว่ายน้ำ โดยส่งต่อให้นายกสมาคมคนใหม่คือ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวันคนใหม่ ท่านจึงไม่มีสิทธิ์ถูกเลือก และเป็นที่รู้กันว่าท่านพร้อมจะมอบตำแหน่งสำคัญนี้ส่งต่อให้ “บิ๊กป้อม” นั่นเองในช่วงนั้น

     และก็จริง เมื่อในวันที่ 5 เม.ย.60 ประชุมใหญ่ของสมาชิกบ้านอัมพวัน ก็มีมติเลือก “บิ๊กป้อม” ที่ขณะนั้น ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมทั้งนายกสมาคมว่ายน้ำ เป็นผู้นำบ้านอัมพวัน โดยไม่มีคู่แข่ง และเมื่อถึง ณ เวลาเขียนนี้ “บิ๊กป้อม” หมดวาระที่ 2 ของตัวเอง (ในปี 2567) และปัจจุบัน (ณ วันที่เขียน) ท่านไม่มีสถานะใดในตำแหน่งบริหารบ้านเมือง รวมทั้งพ้น จากตำแหน่งนายกสมาคมว่ายน้ำ เพราะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้แล้ว

     โดยต่อจากนี้ที่น่ามองคือจะมีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของบ้านอัมพวัน ในการประชุมสมาชิกสมัชชาใหญ่สามัญ ในเดือน มี.ค.2568

     ซึ่งก็น่าเพ่งดูว่า ผู้ที่จะเป็นผู้นำบ้านอัมพวัน หรือ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ คนต่อไปจะเป็นใคร เป็นคนที่มีฐานอำนาจใดหนุนหลัง จะเหมือนหรือแตกต่างที่มากับคนก่อนๆ ที่มีทั้งพลังทางการเมือง พลังในตำแหน่งหน้าที่อีกหรือไม่ และฐานอำนาจเหล่านี้ยังมีความจำเป็นต่อการเป็นผู้นำหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นไร...ก็ต้องติดตาม.

RANDOM

NEWS

ก.วัฒนธรรม ร่วมกับ สจล. เปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปที่มีผลงานสร้างสรรค์ เข้าร่วมโครงการ “1 ครอบครัว 1 พลังสร้างสรรค์” เพื่อคัดเลือก 200 ธุรกิจ สู่การบ่มเพาะ ต่อยอด และสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ทิพยประกันภัย เชิญชวนครู อาจารย์ และผู้ที่สนใจ ร่วมเดินทางขึ้นดอยอ่างขาง เยี่ยมชมโครงการหลวงแห่งแรกที่สูงที่สุดในสยาม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 48” วันที่ 1 – 2 ก.พ. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!