พลิกขยะชีวมวลสู่ “ลิกนิน” นวัตกรรมเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ในปัจจุบันปัญหาขยะชีวมวลกำลังกลายเป็นวิกฤตสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ชีวมวลจากชานอ้อย ฟางข้าว ปาล์มน้ำมัน และเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวนมหาศาลถูกเผาทำลายหรือทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ โครงการการพัฒนากระบวนการบำบัดชีวมวล เพื่อแยกส่วนและตกตะกอนลิกนินบริสุทธิ์ เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่และชีวภาพ (IBBG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“ชีวมวลไม่ใช่ของเสีย แต่คือทรัพยากรสำคัญที่สามารถแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าว

ปัจจุบันชีวมวลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การแปรรูปเป็นพลังงาน หรือ การสกัดองค์ประกอบสำคัญอย่างเซลลูโลส เพื่อนำไปผลิตเยื่อกระดาษ อย่างไรก็ตาม ชีวมวลยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ถูกมองข้าม หนึ่งในนั้น คือ ลิกนิน (Lignin) ซึ่งมีอยู่มากถึง 20% ของชีวมวล และมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์

ลิกนิน เป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวมวลลิกโนเซลลูโลส มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การดูดกลืนรังสียูวี และการต้านอนุมูลอิสระ แต่ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ซับซ้อน ทำให้กระบวนการสกัดแบบเดิมต้องใช้สารเคมีที่รุนแรง ซึ่งนอกจากจะทำลายคุณสมบัติสำคัญของลิกนินแล้ว ยังทำให้ลิกนินถูกจัดเป็นของเสียที่ยากต่อการนำไปพัฒนาต่อยอด ทีมวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการใหม่ โดยใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ที่สามารถสกัดลิกนินออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำตัวทำละลายกลับมาใช้ซ้ำ กระบวนการนี้เป็นระบบกึ่งไร้ของเสีย (Semi-Zero Waste) ช่วยให้ได้ลิกนินที่มีความบริสุทธิ์สูง และยังคงคุณสมบัติสำคัญไว้อย่างครบถ้วน ดร.ชญานนท์ กล่าว

ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์

จากการวิจัยร่วมกันโดยใช้ห้องปฏิบัติการร่วมด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ (BIOTEC-JGSEE Integrative Biorefinery Laboratory) ได้ค้นพบศักยภาพของลิกนินในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาพลาสติกผสมลิกนินที่สามารถกันรังสียูวีได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และ ผลิตเป็น “กรีนแพคเกจจิ้ง” ด้วยการผสมลิกนินเข้ากับพลาสติกชีวภาพ เช่น PLA (พลาสติกย่อยสลายได้) และ พลาสติก Up-cyling rPET (พลาสติกทนความร้อนและยืดหยุ่นสูง) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทนต่อรังสียูวี ลดการเสื่อมสภาพ และตอบโจทย์ความยั่งยืน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณภาพ และความปลอดภัยจากแสงยูวี ลิกนิน ยังถูกนำไปผสมในยางธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความทนทานและลดการเสื่อมสภาพจากความชื้นและออกซิเจน ลิกนินสามารถแทนที่สารเคมีต้านอนุมูลอิสระได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดยางที่มาจากธรรมชาติ 100% ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตยางรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยางชนิดพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้ ลิกนิน ยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมความงาม เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์รองพื้น (Foundation) ด้วยโทนสีน้ำตาลธรรมชาติ และคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี โดยมีค่า SPF สูงถึง 36 โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเพิ่มเติม ทั้งยังมีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยชะลอวัย ทีมวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ในเชิงลึก ทั้งหมดถือเป็นการนำของเหลือจากชีวมวลมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงได้

นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวมวลแล้ว ทีมวิจัยยังมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวมวลที่ถูกทิ้งหรือเผาทำลายมักปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเทน และ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการแปรรูปลิกนิน ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ แต่ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายเศษเหลือจากการเกษตรในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ในอนาคตทีมวิจัยวางแผนขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย “Zero Emission” และ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการใช้ชีวมวลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดของเสีย และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังเล็งเห็นว่า แนวทางนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวได้

“ลิกนิน เป็นตัวอย่างของการแปรรูปชีวมวลที่ไม่ได้ช่วยแค่ลดขยะ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร.นวดล กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

เปิดตัวแล้ว “ส.ว.กีฬา” ชุดใหม่ พิศูจน์ รัตนวงศ์ รั้งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬา วุฒิสภา ขณะที่ ธัชชญาณ์ณัช นั่งรองเบอร์ 1 ส่วน “จำลอง อนันตสุข” นั่งรอง 4 ควบโฆษกกรรมาธิการ

NEWS

จัดการเวทีเสวนานโยบายสาธารณะ (Public Policy Forum) ครั้งที่ 3 หัวข้อ “การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาไทย : ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่” ชูนโยบาย “รื้อ ลด ปลด” สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์ของสังคม

สัตวแพทย์ จุฬาฯ ชวนทาสหมา ทาสแมว มาร่วมกิจกรรม “Pet Obesity Day : สุขภาพดีไม่มีอ้วน” ดูแลสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง ห่างไกลโรคอ้วน ในวันที่ 4 มี.ค. 68 ณ โถงชั้น 1 อาคารสัตววิทยวิจักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!