“กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเพื่ออนุรักษ์ผ้ายกไทย” ไอเดียเด็ด จากรั้ว มมส. ช่วยอนุรักษ์ผ้าทอไทย สร้างรายได้หลักล้านต่อปี

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ม.มหาสารคาม ส่ง “กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเพื่ออนุรักษ์ผ้ายกไทย” คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดีมาก จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
มาเมื่อเร็ว ๆ นี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกสร วงศ์เกษม เจ้าของผลงาน กล่าวว่า การทอผ้า ถือเป็นศิลปะและหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผ้าที่ทอด้วยลวดลายที่แสดงถึงภูมิปัญญาและทักษะของผู้ทอได้แก่ “ผ้ายก” ซึ่งเป็นผ้าที่ทอได้ยากและมีเอกลักษณ์ ทำให้ผ้ายกนี้เปรียบเสมือนงานศิลปะ หรืองานหัตถกรรม ราคาของผ้าทอยกเหล่านี้จะมีราคาสูง เมื่อเทียบกับการทอด้วยวิธีอื่น โดยปกติแล้วผ้ายกที่เป็นผ้าฝ้ายจะมีราคาขั้นต่ำผืนละ 6,000 บาท แต่หากมีลวดลายซับซ้อน หรือทำจากเส้นไหม หรือดิ้นเงินดิ้นทองแล้ว ราคาจะสูงกว่า 15,000 บาทต่อผืน

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยอัตราการผลิตที่ต่ำ ทำให้ผู้ทอไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากมีปัญหาทั้งด้านแรงงาน ทักษะ ตลอดจนแรงจูงใจในการทอ งานทอผ้ายกจึงนับวันจะยิ่งมีคนสืบทอดน้อยลง เพราะกว่าจะได้เงินค่าตอบแทนในการทอแต่ละผืนต้องใช้เวลานาน และยังเป็นงานที่ยากด้วย ผู้ทอจึงเลือกที่จะทอผ้าแบบเรียบแทน จากปัญหาที่กล่าวมาจึงเกิดแนวคิดในการออกแบบและสร้างกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติสำหรับทอผ้ายกขึ้น กี่ทอผ้านี้มีการควบคุมด้วย PLC และมีหน่วยความจำที่สามารถช่วยจดจำและบรรจุลายผ้าได้ เพิ่มอัตราการทอ ลดแรงงานในการทอผ้า ทำให้การทอผ้ายกเป็นเรื่องง่ายขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความภูมิใจในการอนุรักษ์ศิลปะการทอที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น อันเป็นการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

สำหรับ กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเพื่ออนุรักษ์ผ้ายกไทย ได้นำเอาเทคโนโลยีกับอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาในการทอผ้ายก อันเป็นศิลปะการทอขั้นสูงของไทย และอนุรักษ์ให้คงอยู่ โดยใช้อุปกรณ์ควบคุมกลไกการทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า และผู้ใช้สามารถเพิ่มลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ได้เองตามที่ต้องการ การใช้งานยังคงวิถีการทอแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังช่วยลดแรงงานจากแต่เดิมต้องทอ 2 – 3 คน ให้เหลือเพียงคนเดียว ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการทอได้ 2.5 เท่า เมื่อเทียบการทอในลายเดียวกัน ไม่มีลายผ้าผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้น ยังเหมาะกับทุกวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทักษะก็สามารถทอได้ คนสูงอายุที่ไม่มีกำลังขา แม้แต่คนพิการทางขาก็สามารถใช้เครื่องทอนี้ได้เช่นกัน โดยในส่วนของลวดลาย มีการบันทึกลายทอมากกว่า 500 ลวดลาย

ปัจจุบันกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติได้นำไปใช้งานในพื้นที่ชุมชนทอผ้าบ้านนาโปร่ง จังหวัดอุดรธานี และชุมชนทอผ้าบ้านนาสะแบง จังหวัดยโสธร ซึ่งทางวิสาหกิจชุมชนทั้งสองแห่งให้การตอบรับผลสำเร็จของกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเป็นอย่างดี มียอดการผลิตผ้ายกเพิ่มขึ้นถึง 500 หน่วยต่อปี คิดเป็นผลกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อปีประมาณ 2,800,000 บาท

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกสร วงศ์เกษม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โทร. 065-5361479

RANDOM

‘รองชุม’ นำฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศใช้มาตรการเด็ดขาดปราบสมาคมกีฬาเฉื่อยค้างจ่าย ค้างนาน พร้อมส่งเอกสารขั้นตอนการเบิกง่าย งบ ปี 66 ต่อ 88 สมาคมกีฬาให้เดินตามเส้นทาง หวังจะไม่พบปัญหาเรื่องเงินๆ กับสมาคมกีฬาอีกต่อไป

มวยไทยรากหญ้าเจอปัญหาค่าตัวนักมวยลดฮวบ สวนทางค่าเช่าเวทีมาตรฐานพุ่งพรวดหลายเท่าตัว “เฮียตี๋” ออกโรงชี้ไปที่ กกท. เมินแก้ปัญหา เรียกร้องให้นัดเวทีมวยหารือหาทางออกร่วมกันเพื่อสางความทุกข์คนมวยไทยด่วน

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!