นำมาใช้สำหรับการควบคุมน้ำหนัก และเป็นวิธีการรักษาระดับน้ำตาล

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กระแสการรับประทานอาหารคีโตในเมืองไทย (Ketogenic diet) เริ่มเป็นที่นิยมกันมากในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้ แต่จากข้อมูลเราพบว่าการรับประทานคีโต เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ.1920 แล้ว ซึ่งในขณะนั้นเป็นการนำมารักษาโรคลมชัก แต่เมื่อมียารักษาโรคลมชักเกิดขึ้นการใช้วิธีนี้ก็เริ่มลดลงไป ปัจจุบันคีโตถูกนำมาใช้ในรูปแบบสำหรับการควบคุมน้ำหนักสำหรับคนทั่วไป และเป็นวิธีการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินและระดับไขมัน

สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งนี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และได้รับการประเมินความเสี่ยงก่อนเริ่มโภชนาการรูปแบบนี้เพื่อความปลอดภัยในกลุ่มที่มีโรคบางชนิด วิธีการอื่นๆที่ช่วยทำให้คีโตนสูงในเลือด นอกจากโภชนาการแบบคีโต คือ การหยุดรับประทานอาหาร (Fasting) การรับประทานคีโตนเสริม (Exogenous ketone) และการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

จากผลการศึกษาในงานวิจัยปี 2021 พบว่า การออกกำลังกายร่วมกับโภชนาการแบบคีโตเป็นโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน สามารถช่วยลดขนาดเส้นรอบวงเอวและระดับไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงไม่มีปัญหาน้ำหนักขึ้นๆลงๆ (Yo-yo effect) อีกด้วย ในส่วนของโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีโภชนาการแบบคีโต ควรเป็นรูปแบบการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic exercise) ร่วมกับการออกกำลังกายด้วยแรงต้าน (Resistance exercise) ที่ระดับความหนักปานกลางถึงหนักมาก (Moderate to vigorous intensity) ประมาณ 30-60 นาที จำนวน 4 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 9 สัปดาห์ โดยสัดส่วนการโภชนาการแบบคีโตประกอบด้วยกการรับประทานไขมัน มากกว่าร้อยละ 65 โปรตีน มากกว่าร้อยละ 25 และคาร์โบไฮเดรต น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือน้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน

การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic exercise) สามารถเลือกที่จะเดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นรำ แต่ต้องให้เหนื่อยระดับปานกลาง (65-75%) ถึงหนักมาก (76-96%) ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (HR max)  โดยหาค่าได้จากการนำ 220 -อายุ หรือถ้าเป็นการเดินหรือวิ่งเราสามารถประเมินคร่าวๆจากจำนวนก้าวต่อนาที ถ้าเป็นระดับความหนักปานกลาง จะอยู่ที่ 100 ก้าวต่อนาที และถ้ามากกว่า 100 ก้าวต่อนาทีถือว่าเริ่มเข้าสู่ระดับความหนักมาก ในส่วนของการออกกำลังด้วยแรงต้าน (Resistance exercise) นั้นก็สำคัญเช่นเดียวกันเพราะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงช่วยลดระดับค่า HbA1c ในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานอีกด้วย ท่าทางในการฝึกออกกำลังกายแบบแรงต้านควรเน้นกลุ่มกล้ามเนื้อมัดหลักใหญ่ เช่น กล้ามเนื้อต้นขา สะโพก หน้าท้อง หลัง หน้าอก ไหล่ เป็นต้น โดยฝึกประมาณ 8-15 ครั้ง ต่อกลุ่มกล้ามเนื้อ และทำซ้ำ 2-3 เซต

การเลือกรับประทานอาหารแบบคีโตร่วมกับการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อกลุ่มที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีโรคอ้วนและผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ทั้งโภชนาการแบบคีโตนั้นบางครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกันในบุคคลที่มีโรคแทรกซ้อนหรือมีข้อจำกัดทางสุขภาพ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรศึกษาหาความรู้ก่อนให้ดีรวมถึงปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เราได้รับความปลอดภัยและประโยชน์จากวิธีการเหล่านี้.

 

ผศ.ดร.สุรสา โค้งประเสริฐ

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

RANDOM

วช. ร่วมกับ ม.แม่ฟ้าหลวง และ ม.ขอนแก่น จัดอบรมฟรี สำหรับอาจารย์ นักวิจัย และผู้ที่สนใจ ในโครงการ “พัฒนาบุคลากรวิจัย และนวัตกรรม ด้านจริยธรรมการวิจัย” วันที่ 27 ม.ค. 68 พร้อมรับใบประกาศนียบัตร หากผ่านเกณฑ์หลังเสร็จสิ้นการอบรม  

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!