รู้จัก โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ตั้งเป้าเด็กทุกคนต้องได้เรียน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ช่วงนี้ Station Thai ได้เข้าไปดูข่าวคราวความเคลื่อนไหวของหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ สังเกตพบว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาทั่วประเทศ ต่างลงพื้นที่ค้นหาเด็กตกหล่น และเด็กด้อยโอกาส ที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาปกติไป ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ในชีวิตที่ไม่สามารถส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป แล้วประเทศชาติจะพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างไร ดังนั้น การให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในทุกช่วงวัย จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการปูรากฐานให้พวกเขาเติบโตไปเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ดังนั้น วันนี้ Station Thai จะพาไปทำความรู้จักกับโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” กันครับ

เมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกที่เด็กหลุดออกจากระบบ เป็นการคืนโอกาส และสร้างอนาคตให้เด็ก และยังช่วยแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล ที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบต้องเป็นศูนย์

ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” มีผู้แทนจาก 14 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกความตกลงฯ พร้อมทำพิธีเปิดโครงการและเปิดตัวแอปพลิเคชัน “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยที่หลุดการศึกษา กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ในการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในมิติต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงด้านการศึกษา ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ในการให้โอกาสกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา แม้กระทั่งเด็กที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าศึกษา ทั้งเด็กปกติและผู้พิการ เพื่อที่จะให้ทุกคนจะได้รับการศึกษาที่ดี และมีมาตรฐานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะยังมีเด็กตกหล่นและเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอีกจำนวนมาก มากกว่า 100,000 คน ที่รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งโอกาสที่ให้ครั้งนี้ เปรียบเสมือนการลงทุนสร้างทรัพยากรที่สำคัญของประเทศโดยตรงอีกทางหนึ่ง การศึกษาจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ควรเรียนในด้านที่ตรงกับศักยภาพของตนเอง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เรียนจบมาแล้วจะได้มีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้สำหรับเลี้ยงดูตนเองและดูแลครอบครัวได้

ด้าน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจาก 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าและประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ว่า ในระยะเวลา 1 เดือน นับจากริเริ่มโครงการ คุณครูและบุคลาการทางการศึกษาทุกหน่วยงานได้ร่วมกันค้นหา และติดตามน้อง ๆ ให้กลับมาเรียนได้จำนวน 42,316 คน จากจำนวนนักเรียนที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา 110,755 คน ซึ่งน้องนักเรียนจะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของแต่ละต้นสังกัดเดิม แตกต่างกันไปตามสถานะทางการศึกษาก่อนหน้า และในขณะเดียวกัน ได้มีการสำรวจเพิ่มเติมพบผู้พิการที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่หลุดจากการศึกษาอีก 41,013 คน จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกสังกัดของ ศธ. ต้องร่วมกันติดตามเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีก 109,452 คน

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกดีใจที่สามารถตามหาน้อง ๆ ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ แม้จะเป็นจำนวนเบื้องต้น แต่ ศธ. ก็ยังมุ่งมั่น และจะเดินหน้าเชิงรุกอย่างเต็มที่ที่จะตามหาน้องๆ ให้เจอ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เราให้ความสำคัญกับน้อง ๆ ทุกกลุ่ม ต้องการให้ทุกคนได้รับประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักของคุณครูทั่วประเทศในการค้นหา และติดตามน้อง ๆ กลับมา โดย ศธ. มีเป้าหมายที่จะให้เด็กหลุดจากระบบเป็นศูนย์ให้ได้” โดยในเดือนมีนาคมจะสามารถสรุปตัวเลขการติดตามนักเรียนจากทุกสังกัดของ ศธ.ที่มีข้อมูลได้ครบ และจะทราบได้ว่า เหลืออีกจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องขอความร่วมมือกับพันธมิตร 11 หน่วยงาน ในการติดตามต่อไป

สำหรับน้อง ๆ เด็กและเยาวชนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือที่กำลังจะจบในภาคการศึกษานี้ ซึ่งรวมถึงผู้พิการด้วย ที่ครอบครัวไม่มีความพร้อมในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อศึกษาต่อ หรือการย้ายถิ่นฐาน หรือสูญเสียผู้นำครอบครัว หากมีความประสงค์จะเข้ารับการศึกษาต่อสายอาชีพ  ทาง ศธ. โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็มีโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” รองรับไว้แล้ว

ขณะที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ทาง สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเร่งการติดตามเด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ.ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซี่งมีจำนวน 35,307 คน ทาง กพฐ.ติดตามกลับมาได้เบื้องต้นแล้วประมาณ 10,821 คน และจะนำเข้าสู่ระบบการศึกษาในสถาบันเดิมเป็นเบื้องต้น หรือหากเป็นน้องที่จบการศึกษามัธยมตอนต้นแล้ว หากประสงค์จะเรียนต่อในสายอาชีพ และมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ทาง สพฐ.จะรวบรวมและส่งรายชื่อให้กับทาง สอศ. เพื่อส่งต่อน้อง ๆ เข้าร่วมโครงการ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ต่อไป

นายอัมพร กล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนที่สามารถติดตามตัวกลับมาได้แล้ว และกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว ทาง สพฐ.ยังมีแผนงานในการติดตาม และเยี่ยมเยียนเด็กและเยาวชนถึงบ้าน โดยใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต”

ทางด้าน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ทาง สอศ. ได้กำหนดคุณสมบัติของนักเรียนที่มีความตั้งใจที่จะเข้าร่วม โครงการ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อเข้าศึกษาต่อสายอาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยจะต้องเป็นนักเรียนที่คาดว่าจะสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า หรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา มีฐานะยากจน หรือประสบปัญหาทางครอบครัว หรือมีภูมิลำเนาห่างไกลสถานศึกษา แต่มีความประพฤติดี โดยสามารถเลือกเข้าศึกษาได้ทุกสาขาวิชาที่สถานศึกษาเปิดรับ และเลือกได้เพียง 1 สาขาวิชาหรือสาขางาน ในหนึ่งสถานศึกษาเท่านั้น

เลขาธิการ กอส. กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษา 2565 ทาง สอศ.สามารถให้การสนับสนุนน้อง ๆ ที่สนใจเข้าเรียนทางสายอาชีพ จำนวน 8,445 คน ในวิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเกษตร จำนวน 87 แห่ง ซึ่งเป็นการเรียนฟรี และมีที่พักมาตรฐานให้พักฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการเรียน อีกทั้งยังสนับสนุนให้น้อง ๆ มีรายได้ผ่านการจัดทำโครงการหารายได้ระหว่างเรียน รวมถึงการหาแหล่งงานให้ทำภายหลังจบการศึกษาอีกด้วย คาดหมายว่าตลอด 10 ปี ของโครงการ จะรับนักเรียนได้ 8 รุ่น และมีน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 110,000 คน และสามารถขยายการดูแลของวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้ครบ 77 จังหวัด รวม 169 สถานศึกษา

ทาง สอศ. ได้ประสานกับ สพฐ. เพื่อแจ้งคุณสมบัตินักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนอกจากจะเป็นนักเรียนในสังกัดโรงเรียนของ สพฐ. และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แล้ว นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน สามารถได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการด้วย นอกจากนี้ ทาง สอศ.ยังได้ร่วมกับ สพฐ.ในการจัดส่งครูอาชีวศึกษาไปทำการเรียนการสอนสายอาชีพให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในบางสถานศึกษา เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน สร้างความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการเรียนสายอาชีพอีกด้วย

สำหรับข้อมูลในการค้นหา ช่วยเหลือ และพาน้องกลับมาเรียน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 65 กระทรวงศึกษาธิการสามารถติดตามน้อง ๆ ได้ 42,316 คน ประกอบด้วย นักเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 10,821 คน สอศ. 459 คน กศน. 21,031 คน และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 10,005 คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

RANDOM

มจธ.ร่วมมือ ม.เกียวโต จัดเวทีที่มุ่งเน้นการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

NEWS

ม.หอการค้าไทย ชวนน้อง ๆ มัธยมปลายร่วมโครงการ “แคมป์เด็กหัวการค้า ปีที่ 11 จุดประกายความฝัน…ปั้นผู้นำธุรกิจ” บ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นเยาว์ ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต เปิดรับสมัครแล้ว ถึง 3 ตุลาคม

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!