มทร.ศรีวิชัย ต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนา “ปลิงทะเลกาหมาด” เป็นอาหารและเครื่องสำอาง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ปลิงทะเลกาหมาด เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะทรงกระบอกกลมคล้ายไส้กรอก ลำตัวอ่อนนุ่มยืดหดตัวได้ ปลายทั้งสองข้างเป็นช่องเปิดปาก และทวาร ผิวหนังส่วนนอกยืดหยุ่นได้ดี ภายใต้ผิวหนังมีตุ่มเม็ดหินปูน กระจายอยู่ทั่วไป มีหนามลักษณะคล้ายต้นไม้ล้อมรอบ

ปลิงทะเลกาหมาด ยังมีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างในการเป็นยารักษาโรค ซึ่งถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญา
ชาวบ้าน ที่ชาวบ้านนิยมนำมาเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงกระดูก รักษาแผล โดยวิธีการนำมาต้มและดองในน้ำผึ้งป่า แต่วิธีการเหล่านี้ยังขาดงานวิจัยออกมารองรับ ทำให้ รศ.ดร.ชุตินุช สุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย สนใจทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การนำภูมิปัญญาของปลิงทะเลกาหมาด เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร และเครื่องสำอาง” เพื่อนำภูมิปัญญาของปลิงกาหมาด มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร และเครื่องสำอาง สามารถส่งเสริมให้ชุมชนนำไปต่อยอดด้านธุรกิจ และมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ส่งเสริมการตลาด เผยแพร่สรรพคุณต่าง ๆ ของปลิงกาหมาด ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงานด้านการวิจัย ได้รับทุนอุดหนุนจากงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประจำปี 2563

รศ.ดร.ชุตินุช กล่าวว่า ปลิงทะเลกาหมาด มีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างในการเป็นยารักษาโรค มีโปรตีนประมาณร้อยละ 10-12 ไขมันร้อยละ 0.002-0.04 และเนื้อปลิงทะเลยังมีสารมิวโคโปรตีนที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ ยังมีการระบบป้องกันตัวเมื่อเจอศัตรู โดยปล่อยเมือกเหนียวสีขาว หรือ แบ่งเซลล์อวัยวะภายใน เช่น ลำไส้ และ ทางเดินอาหาร ออกมา ซึ่งสารดังกล่าวนั้นมีกลไกออกฤทธิ์ทางชีวภาพ มีชื่อว่า สารโฮโลท๊อกซิน (Holotoxin) มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อรา และทำให้การขยายเซลล์ของมะเร็งช้าลง ซึ่งชาวบ้านนิยมนำมาเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงกระดูก และรักษาแผล ทางทีมนักวิจัยจึงมีแนวคิดในการทำงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาที่ชาวบ้านนำปลิงทะเลกาหมาดมาเป็นยา และปรุงอาหาร นำมาศึกษาเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง

สำหรับการจับปลิงทะเลกาหมาด ควรจับในเวลากลางคืน ช่วงข้างขึ้น หรือ ข้างแรม 15 ค่ำ ถัดจากนั้นไปอีก 1-4 วัน ต้องจับในน้ำลึก พบอาศัยอยู่ 3-5 เมตร ในระดับน้ำปกติ สามารถหาได้สะดวก เนื่องจากปลิงทะเลกาหมาดออกหากินในเวลากลางคืน พบได้บริเวณแนวปะการัง จะมีจุดสังเกตได้ง่าย ตาปลิงจะมีสีแดง คือ ตาของปลิงทะเลกาหมาดในตอนกลางคืน ชาวประมงสามารถจับได้อย่างสะดวก แต่หากจับในเวลากลางวัน ต้องดูทิศทางน้ำ ซึ่งในช่วงน้ำลง สามารถที่จะหาปลิงได้ตามที่ต้องการ

ส่วนการทำความสะอาดปลิง ชาวบ้านจะนำมาทำความสะอาดโดยการล้างด้วยน้ำเค็ม และนำลำไส้ปลิงทะเลออก เพื่อป้องกันการละลายตัวของปลิง เพราะหากได้น้ำจืดปลิงจะทำการลอกคราบและละลายเป็นเมือก หลังจากนั้น ล้างด้วยน้ำทะเล เพื่อทำความสะอาด ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ นำสารส้มมาทำความสะอาด โดยการถู เพื่อให้ผิวหนังปลิงเรียบ และช่วยลดกลิ่นเฉพาะตัวของปลิง หลังจากนั้น ล้างด้วยน้ำที่สะอาดได้ เพื่อเตรียมการแปรรูปต่อไป จึงมั่นใจได้ว่ากระบวนการทั้งหมด มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในการรับประทาน

รศ.ดร.ชุตินุช กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้นำปลิงทะเลกาหมาด มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร และเครื่องสำอาง ประกอบด้วย ยำปลิงกาหมาด แกงคั่ว น้ำมันปลิงกาหมาด ปลิงดองในน้ำผึ้ง ปลิงดองในเหล้าและสมุนไพร และปลิงแห้งใส่แคปซูล นอกจากนี้ ได้มีการนำน้ำมันปลิงทะเลกาหมาดเป็นฐานในการพัฒนาสูตรเซรั่ม เพื่อผิวพรรณที่ดี โดยได้นำมาพัฒนาต่อยอดได้ 3 สูตร คือ สูตรที่ 1 น้ำมันมะพร้าวที่เคียวปลิงทะเลกาหมาด สูตรที่ 2 น้ำมันมะพร้าวที่เคียวปลิงทะเลกาหมาด ผสมมันเทียนดำ และสูตรที่ 3 น้ำมันมะพร้าวที่เคียวปลิงทะเลกาหมาด ผสมสมุนไพรต่าง ๆ โดยจากการทดลอง พบว่า สูตรที่ 2 ได้รับการยอมรับ และมีคุณสมบัติในการบำรุงผิวพรรณ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง เนื่องจากเมืองของปลิงทะเลกาหมาดช่วยในการรักษาบาดแผลได้ดี

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลิงทะเลกาหมาดพร้อมบรรจุภัณฑ์ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาสูตรต่าง ๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน

RANDOM

ม.เชียงใหม่ เปิดรับสมัคร “พนักงานช่าง – พนักงานบริการฝีมือ (ด้านเทคนิคและเครื่องยนต์)” เปิดรับสมัครแล้ว ถึง 3 ต.ค. 66 สำหรับตำแหน่ง พนักงานบริการฝีมือ และ เปิดรับสมัครแล้ว ถึง 10 ต.ค. 66 สำหรับตำแหน่ง พนักงานช่าง

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!