นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผย ภายหลังการประชุมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตามที่ตนได้มอบหมายให้ทุกองค์กรหลักและส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัด ศธ. ขับเคลื่อนงานตามนโยบายเร่งด่วน 5 เรื่อง ได้แก่ 1) พาน้องกลับมาเรียน ค้นหา ติดตามเด็กตกหล่น และออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา , กศน.ปักหมุด เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส 2) โรงเรียนคุณภาพ 3) อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ 4) ความปลอดภัยในสถานศึกษา 5) หนี้สินครู เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพการศึกษา ภายใต้บริบทสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
การขับเคลื่อนทั้ง 5 เรื่อง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันดูแลผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา อย่างเต็มที่ จึงประสบผลสำเร็จ ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วน ระดับเขตตรวจราชการ และคณะกรรมการประสานงานและบริหารจัดการ
โดย คณะกรรมการอำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแล ติดตามการปฏิบัติงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วน ระดับเขตตรวจราชการที่ 1 – 18 และเขตตรวจราชการส่วนกลาง (กทม.) ให้บรรลุผลตามนโยบายของ ศธ. และปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เลขาธิการสภาการศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกรรมการ มีหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานและบริหารจัดการด้วย
คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วน ระดับเขตตรวจราชการ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 12 คน เป็นประธานกรรมการ ซึ่งแบ่งตาม 18 เขตตรวจราชการ ที่แต่ละคนดูแลอยู่ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการลงพื้นที่ติดตาม ประเมินผล และสื่อสารสร้างความเข้าใจใน 5 นโยบายเร่งด่วน โดย ศึกษาธิการภาค และผู้แทนส่วนราชการที่รับผิดชอบนโยบายดังกล่าว ร่วมเป็นคณะกรรมการ และมีสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สป.ศธ. เป็นฝ่ายเลขานุการ
“การลงพื้นที่ต้องมีรูปแบบการติดตามที่หลากหลาย เน้นสภาพจริง และไม่เป็นทางการ เพื่อไม่เป็นภาระกับหน่วยงานในพื้นที่ การติดตามต้องเป็นแบบกัลยาณมิตร และรายงานผล กระชับ ตรงประเด็น รวดเร็ว เพื่อสะท้อนสภาพปัจจุบัน และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตลอดจนมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การสนับสนุน ส่งเสริม และแก้ปัญหา มายังกระทรวงศึกษาธิการ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
โดยในระยะแรก ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ คณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ติดตามประเมินผล 5 ประเด็นนโยบายเร่งด่วน โดยมีการติดตามและรายงานผลการติดตาม จำนวน 2 ครั้ง คือ หลังเทศกาลสงกรานต์ และก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการโครงการให้มีประสิทธิภาพ และทันเปิดเรียนในเดือนพฤษภาคมนี้