กศน. จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยครบทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. กล่าวในการเป็นประธานการประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนนโยบายศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ (MOE Safety Center) และการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ สำนักงาน กศน. ว่า ตามนโยบายของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมมทางสังคม โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้ง “ศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ” พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน กศน. จัดตั้ง “ศูนย์ความปลอดภัยสำนักงาน กศน. และนำระบบมาตรฐานความปลอดภัย MOE Safety Center มาใช้ในการแก้ปัญหา

นายวัลลพ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สำนักงาน กศน. ในปีงบประมาณ 2565 โดยจัดตั้ง ศูนย์ความปลอดภัยในระดับจังหวัด/สถานศึกษา มีเจ้าหน้าที่ดูแลระบบ MOE Safety Center ระดับหน่วยงานจังหวัด/สถานศึกษา และส่งเสริมการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตให้กับนักศึกษา  กศน. ให้มีพื้นฐานที่จำเป็นในการเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์  เพศสัมพันธ์ ทะเลาะวิวาท ความรุนแรง ความเครียด ภัยพิบัติ เป็นต้น สำนักงาน กศน. จังหวัด ทั้ง 77 แห่ง ได้มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยในสถานศึกษาครบถ้วนแล้ว 100% ทั้งนี้ ได้ชี้แจงแก่ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดทุกแห่ง ให้สื่อสารไปยังผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ เพื่อสร้างความเข้าใจไปยังครู กศน.ตำบล และนักศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจในการสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมชี้แจงนโยบายแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) ว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการรวมชำระหนี้มาไว้ที่สถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการผ่อนชำระหนี้ให้มากที่สุด เป็นโครงการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินเพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และสมเกียรติ เพื่อให้มีความรู้ในการสร้างวินัยเกี่ยวกับการบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“จากการเก็บข้อมูลครูทั้งประเทศ ครูประจำการ ครูนอกประจำการ รวมถึงครูประเภทอื่น ๆ ประมาณ 900,000 คน มีหนี้รวม 1.4 ล้านล้านบาท เกือบ 30% ของหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศ เจ้าหนี้รายใหญ่ของครูอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู รองลงมา คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถานบันการเงินอื่น ตามลำดับ สาเหตุที่ครูเป็นหนี้มาจากครูไม่มีวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายเงินเกินตัว ขาดทักษะในการบริหารจัดการทางการเงิน เกิดจากการแข่งขันของสถาบันการเงิน และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้กำหนดข้อตกลงเอาเปรียบลูกหนี้ จึงจำเป็นต้องยอมรับโดยไม่มีทางเลือก กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดทำโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งได้รับความสนใจจากครูทั่วประเทศ โดยจะเปิดลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้สินครูอีกครั้งหลังจากเทศกาลสงกรานต์” นายสุทิน กล่าว

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!