ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ได้วางเป้าหมายเชิงนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการเพิ่มโอกาสและเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้จัดทำโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและยากจน ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งโครงการอาชีวะอยู่ประจำฯ ได้ต่อยอดมาจากโครงการที่ สอศ.ได้ดำเนินการเดิมอยู่ก่อนแล้ว โดยทำให้ครอบคลุมและเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ในลักษณะโรงเรียนอยู่ประจำ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พร้อมทั้งมีอุปกรณ์การเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมวินัย คุณธรรม จริยธรรม ในตนเอง การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของชีวิต ลดความเสี่ยงในการถูกชักจูงไปในทางที่ไม่สมควร
สำหรับการประชุมแนวทางการดำเนินโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนให้กับสถานศึกษาที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 88 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเทคนิค ที่มีความพร้อมที่จะเป็นสถานศึกษานำร่องในการจัดการศึกษารูปแบบอยู่ประจำ โดยนำรูปแบบ “โครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ” (ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) มาใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ สำหรับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาแบบอยู่ประจำ เช่น โครงการเกษตรเพื่อชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ จึงถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษาด้านอาชีวศึกษา และการศึกษาเพื่ออาชีพ ตลอดจนเป็นโอกาสให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาได้ปรับเปลี่ยนบทบาท และการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพควบคู่กับปริมาณ
“ผมได้กำชับเพิ่มเติมกับสถานศึกษาทุกแห่ง ในเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา ตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกแห่ง ตรวจตรา ใส่ใจ กำชับ ทั้งด้านสถานศึกษา ครู ผู้บริหาร และนักเรียนในทุก ๆ ด้านอีกด้วย” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวทิ้งท้าย