Home School คืออย่างไร เรียนแบบไหน มาไขข้อสงสัยกัน ? (1)

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

วันนี้ Station Thai จะมาพูดคุยกันเรื่อง Home School หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องของ Home School กันมาบ้าง รู้แค่ว่า เขาเรียนกันที่บ้าน แต่จะเรียนแบบไหน เรียนอย่างไร ใครเรียนได้บ้าง ตามมาทำความรู้จักกันครับ

นับตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกาศใช้ การจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นสิทธิโดยถูกต้องตามมาตรา 12 ที่ให้ครอบครัวจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ เป็นทางเลือกของครอบครัว ที่ประสงค์จะจัดการศึกษาให้กับบุตรเอง หากไม่ประสงค์จะส่งลูกเข้าโรงเรียน โดยสภาพความเป็นจริงการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ได้มีการดำเนินงานมาบ้างแล้ว ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก

หลังจาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ประกาศใช้ การดำเนินงานในเรื่องนี้ได้มีการศึกษาองค์ความรู้จากต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมสอดคล้องกับประเทศไทย พร้อมทั้งได้มีครอบครัวที่ตัดสินใจดำเนินการจัดการศึกษาให้ลูก ตามสิทธิที่ครอบครัวได้รับโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ มาตรา 12 สิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวนี้ จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัวอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยกระทรวงศึกษาธิการ

ความหมายของการศึกษาโดยครอบครัว หมายถึง การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบครัวจัดขึ้น โดยสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบ ของการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างมีการเทียบโอนผลการศึกษาได้

การจัดการศึกษาโดยครอบครัวของไทย มีลักษณะเด่น 5 ประการ ดังนี้

1. เป็นการจัดการศึกษาที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เป็นการจัดการศึกษาเองทั้งหมด หรือโดยมีข้อตกลงจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน อาจเป็นผู้สอนด้วยตนเอง หรืออำนวยการให้เกิดการเรียนการสอนขึ้น

2. มีการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนครอบครัวเดี่ยว หรือ ศูนย์การเรียนกลุ่มครอบครัว (บางครอบครัวอาจเลือกที่จะไม่เป็นศูนย์การเรียนก็เป็นไปได้)

3. สาระและกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เป็นไปในทางตอบสนองต่อปรัชญา ทัศนะ ความเชื่อ ความสนใจ ความต้องการหรือปัญหาของแต่ละครอบครัว จึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไป มีความยืดหยุ่นเป็นอิสระ

4. ความสำเร็จของการศึกษา มุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเด็กเป็นรายบุคคล อย่างพยายามให้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความต้องการที่มีอยู่จริง จากการเป็นหน่วยการศึกษาขนาดเล็ก ที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบตัวต่อตัว และผสมผสานไปกับวิถีการดำเนินชีวิต

5. ไม่ใช่การศึกษาที่เป็นกิจการทางธุรกิจเพื่อผลกำไร และไม่เป็นไปเพื่อการแอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก

ทั้งนี้ การจัดการศึกษาโดยครอบครัว รูปแบบการดำเนินงาน มีดังนี้

1. การดำเนินงานโดยครอบครัวเดี่ยว ในช่วงแรก ๆ ที่ผ่านมา รูปแบบจะเป็นไปในลักษณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมที่ทำให้ต้องเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ การดำเนินงานมีความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง  หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปตามวิถีสภาพแวดล้อมของครอบครัว ความคิด ความเชื่อ ความสนใจ มีความหลากหลายแตกต่างกัน มีลักษณะเฉพาะของแต่ละครอบครัวค่อนข้างสูง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสังคมกลุ่มเพื่อน มีความเชื่อมโยง เกิดกิจกรรมที่นำไปสู่การจัดการศึกษาร่วมกัน เช่น ครอบครัวพึ่งอุดม

2. การดำเนินงานโดยกลุ่มครอบครัวข่ายประสานงาน ลักษณะการดำเนินงานหลายครอบครัวร่วมกัน ดำเนินงานในบางกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีอิสระในวิถีของตัวเอง มีการจัดการศึกษาทั้งที่บ้านของแต่ละครอบครัว พร้อมไปกับการจัดการศึกษาร่วมกันของกลุ่มตามที่นัดหมาย มีการบริหารจัดการที่กระจายไปแต่ละครอบครัว มากกว่ารวมศูนย์การบริหารอยู่ที่เดียว เช่น กลุ่มบ้านเรียนปัญญากร

3. การดำเนินงานโดยกลุ่มครอบครัว แบบรวมศูนย์การจัดการในที่เดียว ครอบครัวหลายครอบครัวรวมกันจัดการศึกษาในที่แห่งหนึ่ง มีคณะครอบครัวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกำกับดูแลในเรื่องนโยบายและการบริหารจัดการ การดำเนินงานมีการมอบหมาย หรือจ้างคณะทำงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยมีความต่างจากโรงเรียน ดังนี้

3.1 เป็นโรงเรียนของครอบครัว ครอบครัวเป็นเจ้าของ โดยมีแนวความเชื่อ จุดมุ่งหมาย ปรัชญาการศึกษา ยึดถือร่วมกัน

3.2 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จัดให้เฉพาะลูกหลานในกลุ่ม ในปริมาณไม่มากนัก

3.3 เป็นโรงเรียนแบบการกุศล ไม่มุ่งแสวงหากำไร

รูปแบบนี้ แต่ละครอบครัวยังไม่พร้อมที่จะจัดการศึกษาด้วยตัวเองได้ทั้งหมด เช่น สถาบันปัญโญทัย (นายแพทย์พร พันธุ์โอสถ เป็นแกน) การดำเนินงานรูปแบบนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นการจัดการศึกษาโดยชุมชน หรือองค์กรสังคม

4. ดำเนินการจัดการศึกษาโดยมีข้อตกลงร่วมกับทางโรงเรียน ครอบครัวได้จัดการศึกษา โดยมีข้อตกลงร่วมกันกับทางโรงเรียน ในด้านการบริหารจัดการ หลักสูตร การเรียนการสอน เป็นบทบาทของครอบครัว การวัดประเมินผลร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว โดยโรงเรียนออกใบรับรองให้กับผู้เรียน พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้สถานที่ ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์การเรียนการสอน การจัดทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร ตลอดจนใช้สถานที่ในการพบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมสังคมร่วมกับคณะคณาจารย์และนักเรียนในโรงเรียน การดำเนินงานรูปแบบนี้ ครอบครัวและโรงเรียนได้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น กลุ่มครอบครัวบ้านเรียนชวนชื่น

วันพรุ่งนี้ เราจะมาเล่าถึงรูปแบบการเรียนการสอนของ Home School กันต่อครับ

ขอบคุณข้อมูล จาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!