วันนี้ Station Thai จะมาพูดคุยกันต่อถึงการเรียนการสอน แบบ Home School ว่ามีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน หลักสูตร และการประเมินผล อย่างไรบ้าง
การเรียนการสอน แบบ Home School เป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีการจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอน อันได้แก่ รูปแบบการจัดการศึกษา หลักสูตร และการประเมินผล ดังนี้
1. รูปแบบการจัดการศึกษา
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ได้มีการจัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีทั้งที่เป็นการจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือทั้งสามรูปแบบผสมผสานกัน ในสังคมส่วนใหญ่มีลักษณะผสมผสาน ค่อนไปในการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้ เป็นไปตามรูปแบบการจัดการศึกษาที่แต่ละครอบครัวเลือก กล่าวคือ
1.1 ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาแบบการศึกษาในระบบ จะมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาการศึกษา การวัดประเมินผลตามเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
1.2 ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาแบบนอกระบบ มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา การวัดประเมินผล อย่างยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของแต่ละครอบครัว
1.3 ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาตามอัธยาศัย การกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา การวัดประเมินผล ยิ่งมีความยืดหยุ่น และมีอิสระมากขึ้น เป็นไปตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์
2. หลักสูตร
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว กำหนดหลักการ และความมุ่งหมายการจัดสาระการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของผู้เรียน การกำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ จึงมีความยืดหยุ่น การดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นใช้เนื้อหาสาระหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่ไปกับ หลักสูตรโรงเรียนสาธิต โรงเรียนนานาชาติ หรือต่างประเทศ โดยยืดหยุ่นเป็นไปตามความพร้อมและความสนใจของลูกเป็นสำคัญ
ต่อมา ได้มีการพัฒนา ด้วยการสร้างหลักสูตรของครอบครัว มีการกำหนดกรอบกว้างๆ ที่เป็นความตกลงและเตรียมการร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก โดยให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ หรือกระบวนการเรียนรู้หลายๆ สาย ผสมผสานกัน ที่สามารถหล่อหลอมคุณลักษณะการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าตัวความรู้ ให้ใฝ่รักการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้ให้สามารถสร้างเสริมความรู้ได้ตลอดชีวิต มากกว่าความรู้อย่างเป็นส่วนๆ
การเรียนรู้ของครอบครัวเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสภาพการณ์ อย่างเป็นธรรมชาติ แทรกซึมในวิถีชีวิต การเรียนรู้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก
หลักสูตร Home School มีลักษณะ ดังนี้
– ขอบเขตเนื้อหาวิชาไม่ต่างจากหลักสูตรปกติ
– ข้อแตกต่างอยู่ที่กระบวนการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น
– มีการจัดประสบการณ์เสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
– มีกิจกรรมนอกบ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญ
– มีการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมเครือข่ายพ่อแม่ Home School
3. การประเมินผล
การประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีการประเมินผลอย่างเป็นทางการ ดังนี้
1. ครอบครัวที่ลูกอยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ นำชื่อลูกไปฝากไว้กับโรงเรียน โรงเรียนได้ดำเนินการวัดผล ประเมินผล มีการสอบเลื่อนระดับชั้นร่วมกับนักเรียนของโรงเรียน สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการเข้าสอบไล่ และใช้ข้อสอบเดียวกับโรงเรียน
2. ครอบครัวที่ลูกโตกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับ ใช้วิธีการเข้ากลุ่มเรียนเสริม และสอบเทียบกับการศึกษานอกระบบ ของ กรมการศึกษานอกโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม แนวทางการประเมินผลของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีหลักคิดที่สำคัญ ดังนี้
– มุ่งพัฒนาการของเด็กอย่างแท้จริง
– ใหัความสำคัญกับพัฒนาการเป็นรายบุคคล เพื่อให้เด็กได้ค้นพบวิถีทางพัฒนาตัวเอง
– เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการประเมินผลตัวเองด้วย
– ให้ความสำคัญในการประเมินจากสภาพจริง มากกว่าการสอบ การใช้แบบทดสอบ
– มีความต่อเนื่องเห็นตลอดทั้งกระบวนการ มากกว่าเพียงชิ้นงานที่เป็นผลลัพธ์ในขั้นสุดท้าย
– มีความหลากหลายในวิธีการ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตามหลักที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นการเรียนรู้ และสามารถใช้เป็นประจักษ์พยานแสดงผลของการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น
– การสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด และมีสัมผัสความเป็นพ่อแม่ เป็นวิธีการที่เป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นจริง และได้ผลมากที่สุด ของการประเมินพัฒนาการของลูกภายในครอบครัว
หลักฐานแสดงผลการศึกษา
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีหลักฐานที่แสดงผลการศึกษาของเด็กที่เป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
– สมุดบันทึก และแฟ้มสะสมงานของพ่อแม่ แสดงปัญหา การแก้ปัญหา การพัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาการของผู้เรียนรายบุคคล
– แฟ้มสะสมงานของลูก ในทุกประสบการณ์การเรียนรู้ และเนื้อหาความรู้
– สมุดบันทึกของลูก เช่น บันทึกส่วนตัว (ทัศนะ ประสบการณ์ใหม่ เจตจำนง) บันทึกแหล่งเรียนรู้ (จากการเดินทาง ทัศนศึกษา) สมุดภาพ
– ผลงานที่นำเสนอในการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงาน ทั้งโดยบุคคล และโดยกลุ่ม
แนวทางการดำเนินงาน
ครอบครัวที่ตัดสินใจจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับลูก จะต้องนำชื่อลูกไปจดทะเบียนกับโรงเรียนที่ยินดีรับ ทั้งนี้ ด้วยพระราชบัญญัติการประถมศึกษา ได้ระบุว่า เด็กอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้าโรงเรียน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เด็กทุกคนที่มีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ จึงต้องมีชื่ออยู่ในโรงเรียน การจัดการศึกษาโดยครอบครัวเป็นสิทธิที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ แต่สิทธิที่ได้รับนี้จะต้องมีกฎกระทรวงรองรับ ดังนั้น ในช่วงที่กฎกระทรวงยังไม่มีผลบังคับใช้ การดำเนินงานจึงจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับระเบียบ กฎ ต่างๆ ที่ใช้บังคับอยู่
การที่เด็กขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน ก็ต้องมีความตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว ในเรื่องการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดประเมินผล รวมทั้ง หลักฐานการเรียนที่จำเป็น
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว