สถานีความคิด : เทคนิคทางด้านจิตวิทยาช่วยท่านได้ นักวิชาการไทย รศ.ดร.ธิรตา ภาสะวณิช มีข้อแน่นำดี ๆ ที่นี่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ใช้เทคนิคจิตวิทยาผลิตสารเคมีให้ตนเอง

กว่าร้อยปีที่นักจิตวิทยาได้คิดค้นเทคนิคและวิธีการที่หลากหลายที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถรักษาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยา เทคนิคทางจิตวิทยาเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การฝึกผลิตสารเคมีในร่างกายด้วยตนเอง (Autogenic Training: AT) ที่ให้ผลในด้านการรักษาและการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเทคนิค AT ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1932 โดย Dr. Johannes Heinrich Schultz นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน และได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1992 Dr. Kai Kermani นักจิตบำบัดชาวอังกฤษได้นำ AT มาประยุกต์เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งเน้นเพื่อการรักษาและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาของสุขบัญญัติ (Health Recommendation) ข้อ 9 การดูแลสุขภาพจิต ที่มีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในขณะที่การรับยาอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำงานหนักของไตและผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา

การฝึก AT ที่เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิและการผ่อนคลายมีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท อีกทั้งยังมีการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาการทำงานและโครงสร้างของสมองตามหลักประสาทสรีรวิทยา (Neurobiology) พบว่า การฝึก AT ทำให้เกิดการลดลงของระดับคอร์ติซอล (Cortisol-ฮอร์โมนกระตุ้นร่างกาย มีฤทธิ์สลายกลูโคส กรดไขมันและโปรตีน จะผลิตออกมากเมื่ออยู่ในภาวะเครียด) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine-สารเคมีที่เป็นทั้งฮอร์โมนและสารสื่อประสาท เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวและอุณหภูมิร่างกาย) รวมทั้งยังช่วยเพิ่มระดับโดปามีน (Dopamine-สารควบคุมอารมณ์และความรู้สึก) และเมลาโทนีน (Melatonin-ฮอร์โมนควบคุมการนอนและนาฬิกาชีวภาพ) ที่เป็นผลทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย และเมื่อร่างกายผลิตสารเคมีในระดับที่ดีออกมาเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้สุขภาพกายและจิตดี สามารถทำให้อาการป่วยทุเลาลงจนกลับสู่ภาวะปกติได้

ตามแนวคิดทางจิตวิทยา นักวิจัยได้ค้นพบหนทางที่ 1) คนปกติสามารถจะป้องกัน (prevention) การเกิดอาการป่วย และ 2) ผู้ที่ป่วยก็สามารถที่จะบำบัดรักษา (care) อาการป่วยได้ด้วยหนทางทางจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจำนวนมากรายงานผลการทดลองประสิทธิภาพการรักษาระหว่าง ก) การรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ข) การรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว และ ค) การรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ร่วมกับการรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยา

และพบว่า การรักษาทั้ง 3 รูปแบบสามารถทำให้หายจากการป่วยได้ โดยให้รายละเอียดว่าการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าการรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว ถึงกระนั้นการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ร่วมกับการรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยาส่งผลให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด

อนึ่งที่สำคัญ สุขบัญญัติมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ อาทิ การกิน อยู่ หลับ นอนที่ดี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดี จากประสบการณ์ในต่างประเทศ คำถามที่จะได้รับทุกครั้งเมื่อไม่สบายแล้วไปพบแพทย์ ได้แก่ “1) คุณนอนหลับ 6–8 ชั่วโมง/วันหรือไม่ 2) คุณออกกำลังกาย 2–3 ครั้ง/สัปดาห์หรือไม่ หรือ 3) คุณได้รับการผ่อนคลายทางจิตบ้างหรือไม่ และถ้าตอบว่า “ไม่” ให้คุณกลับไปปฏิบัติตามคำแนะนำ ถ้าครบ 1 สัปดาห์แล้วยังไม่หายให้มาพบหมออีกครั้ง”

ท้ายที่สุดผู้เขียนก็ไม่เคยกลับไปพบหมอเลยสักครั้ง เพราะเมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมกับการดูแลสุขภาพจิตก็สามารถหายป่วยได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เพื่อเป็นแนวทางการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องพึ่งยา.

 

                                                                                                                รศ.ดร.ธิรตา ภาสะวณิช

                                                                                                              ภาควิชาพลานามัย

                                                                                                                คณะศึกษาศาสตร์

                                                                                                                มหาวิทยาลัยรามคำแหง

RANDOM

ศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร เปิดรับสมัครคัดเลือก “อาจารย์” การสอนสังคมศึกษา และ จิตวิทยาและการแนะแนว ทั้งนี้ ตำแหน่ง อาจารย์ ภาควิชาหลักสูตรและวิธีการสอน หมดเขตรับสมัคร 28 ธ.ค. 66 และ ตำแหน่ง อาจารย์ จิตวิทยาและการแนะแนว หมดเขตยื่นใบสมัคร 15 ธ.ค. 66

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!