นางณชนกพรหมพร บุญชูศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดการศึกษาทวิภาคีแบบเรียนรวม ร่วมกับ ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อยกระดับความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาให้กับผู้เรียนผู้พิการ โดยเฉพาะผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน
นางณชนกพรหมพร บุญชูศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ นายอภิรัฐ จันทรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา และนางนวพร รอดคุ้ม ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจัดการเรียนการสอนร่วมกันและส่งต่อผู้เรียนผู้พิการได้มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังมีโครงการที่จะลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชลบุรี โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ นางณชนกพรหมพร บุญชูศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อมูลของนักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง (กสศ.) ในปี 2564 และพิจารณาผู้ที่จะรับทุนประจำปี 2565 โดยได้ประชุมร่วมกับผู้ปกครอง ผู้บริหาร และครูผู้สอนของโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา และ โรเรียนโสตศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้เรียนผู้พิการที่มีความต้องการที่จะเรียนต่อในสายอาชีพ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีความต้องการพิเศษเนื่องจากความพิการ อีกทั้งและยังได้หารือกับผู้ปกครองในเรื่องพฤติกรรมทางการเรียน พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการชี้แจงเรื่องการใช้ชีวิตในหอพักนักศึกษาพิการ ของ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล
ปัจจุบัน วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล มีนักศึกษาผู้พิการ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 62 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ ดังนี้ สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาดิจิทัลกราฟิก สาขาวิชาการโรงแรม และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งผู้เรียนผู้พิการส่วนใหญ่เป็นผู้พิการที่ความบกพร่องทางการได้ยิน ทั้งนี้ วิทยาลัยฯ ได้การจัดเรียนการสอนทวิภาคีแบบเรียนรวม คือการเรียนรวมกันระหว่างนักศึกษาพิการและนักศึกษาปกติ เรียนวิชาชีพในวิทยาลัย 1 ปี และฝึกอาชีพในสถานประกอบอีก 1 ปี เน้นให้จัดการเรียนการสอนที่เป็นการเรียนปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติจะช่วยเพิ่มพูนทักษะและความชำนาญในสาขาวิชาชีพ และมีความสอดคล้องต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนพิการ เพื่อให้ผู้เรียนผู้พิการมีทักษะฝีมือที่ดี ก่อนเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการ และเข้าสู่ตลาดแรงงาน สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อไป