นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 4/2565 พร้อมมอบนโยบายเปิดภาคเรียนอย่างปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครอง บุคลากร ครู ผู้บริหาร ให้สถานศึกษาเปิดเรียน On-Site ได้อย่างปลอดภัย พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารของ สพฐ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 245 เขต สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และคณะทำงาน เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Video Conference
นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ ตนต้องการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้แก่หน่วยงานระดับปฏิบัติในเขตพื้นที่ โดยเน้นย้ำในเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ในรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจน กระทรวงสาธารณสุข เองก็เข้ามาสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของมาตรการต่าง ๆ ว่า เราจะต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ปกครองและคุณครูได้มั่นใจ รวมถึงเรื่องของภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการอย่างไร ซึ่งหลายพื้นที่ก็ได้มีการทำมาตรการตรงนี้อยู่แล้ว โดยหลายโรงเรียนมีการปรับพื้นฐานให้เด็ก ๆ ตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน เนื่องจากในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 2 ปี เด็กได้เรียนในระบบที่ไม่ปกติ จึงต้องมีการซ่อมเสริมในส่วนที่ขาดหายไป นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำในเรื่องของเด็กตกหล่น ที่เรายังทำต่อเนื่องกันมา โดยเน้นย้ำให้มีการประสานงานกันในระดับพื้นที่ ในการพาน้องกลับเข้ามาในระบบการศึกษา ส่วนน้องกลุ่มไหนที่ต้องการความช่วยเหลือในหลากหลายด้าน เช่น โครงการอยู่ประจำ เรียนฟรี หรือ การหาตัวน้องให้เจอ เพื่อให้ทราบแน่นอนว่า น้องจะเข้าสู่ระบบหรือไม่เข้า หรือหาตัวเจอแล้ว แต่น้องอาจจะมีความซับซ้อนที่ไม่สามารถมาเรียนได้ ตรงนี้จะมีหน่วยงานไหนของภาครัฐที่เข้าไปสนับสนุนได้บ้าง ทั้งในเรื่องของการเรียนรู้ หรือเรื่องของครอบครัว
“อีกเรื่องหนึ่งที่ให้ความสำคัญ คือ เรื่องความปลอดภัย ที่เน้นย้ำอยู่ตลอด เพราะโรงเรียนปิดมาเกินกว่า 2 เดือน เพราะฉะนั้นเมื่อโรงเรียนจะเริ่มเปิด ก็จะต้องมีการตรวจสอบพื้นที่ในเรื่องของความปลอดภัย ทั้งเรื่องของอาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า ระบบต่าง ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้กลับมาเรื่องหนังสือด้วยความปลอดภัย และขอเน้นย้ำว่า การเปิดเรียนให้ดูการเตรียมความพร้อมของเด็ก ๆ นั่นคือ ให้ดูแลน้อง ๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพราะการที่เด็กกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาตามปกติ หลังจากเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะต้องปรับในเรื่องขององค์ความรู้ เรื่องพฤติกรรม หรือเรื่องการอยู่ร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่คุณครูจะต้องทำงานกันอย่างหนัก ทาง ผอ.เขต และบุคลากรในพื้นที่ ก็จะต้องสร้างความมั่นใจ ให้ความร่วมมือ และให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในห้วงของการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ดังนั้น เรื่องที่เราพยายามสื่อสารกันในวันนี้ ก็คือ เรื่องการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนเป็นหัวใจหลัก ซึ่งเราจะเปิดเรียนพร้อมกันในวันที่ 17 พฤษภาคม นี้ โดยเน้นในรูปแบบการเปิดเรียนแบบ On-Site เป็นหลัก แล้วการเปิดเรียนทำอย่างไร ถึงจะมาเรียนได้อย่างปลอดภัย โดยที่ครูและนักเรียนต้องมีความสุข เราจึงรณรงค์ หลัก ๆ อยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ เรื่องของการฉีดวัคซีน ให้ครูและนักเรียนให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงผู้ปกครองนักเรียน กรณีที่เป็นเด็กเล็ก ก็จะเน้นไปที่ผู้ปกครองเป็นคนฉีด และเรื่องของการตรวจประเมินความพร้อม รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 ของ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งการสร้างความเข้าใจสื่อสารไปยังผู้ปกครอง ในเรื่องของการตรวจ ATK และเรื่องของการฉีดวัคซีน ถึงแม้นักเรียนไม่ได้ฉีดก็สามารถมาเรียนได้ ก็ได้สื่อสารในจุดนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ประเด็นที่ 2 คือ เรื่องของโครงการลดความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ การพาน้องกลับมาเรียน โดยเรามีเป้าหมายว่า ในวันเปิดภาคเรียนวันที่ 17 พ.ค. เราต้องพาน้องกลับห้องเรียนให้ได้มากที่สุด นี่คือเป้าหมายของโครงการที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งตอนนี้สามารถตามกลับมาได้ประมาณ 97% แต่ก็ยังมีนักเรียนที่ไม่ประสงค์ที่จะกลับมาเรียนในระบบ หรือเข้าเรียนในสถานศึกษา ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ สพฐ. จะต้องทำต่อไปว่าอะไรคือสาเหตุที่เขาไม่อยากกลับมา ถ้าเขาจะกลับมาเราต้องเข้าไปดูแลเขาอย่างไร และเมื่อตามไปแล้วไม่เจอตัว ซึ่งอาจจะเป็นเด็กต่างด้าวส่วนหนึ่งทางชายขอบที่เดินทางกลับประเทศแล้ว ไม่ได้กลับมาเรียน หรือสำรวจแล้วไม่มีตัวตนอยู่ในพื้นที่ เราก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า จะทำอาสาสมัคร เหมือน อสม. ประจำหมู่บ้าน คือ อสม.การศึกษา หรืออาจจะทำร่วมกันกับ กระทรวงสาธารณสุข ในการค้นหาเด็ก แล้วเมื่อหาตัวเจอแล้ว เราก็จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนแปลงการด้อยโอกาสของเขาให้เป็นได้โอกาส โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงคน และลดความเหลื่อมล้ำ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้หลักการเอาไว้
ประเด็นที่ 3 คือ เรื่องการเตรียมการจัดการเรียนการสอน ในปี 2565 โดยเน้นย้ำว่าการเรียนการสอนในปี 2565 จะเป็นการเรียนการสอนแบบซ่อมเสริม คือ ซ่อมในส่วนที่ขาดหายไปในช่วง 2 ปีกว่า เช่น ระดับประถมศึกษา จะเน้นในเรื่องอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เพราะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่น ก็จะเติมในส่วนที่ขาดหายหรือบกพร่อง และนำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมาดูใน 3 เรื่อง คือ 1. ก่อนที่เราจะเติมหรือซ่อมเสริม เราต้องมีเครื่องมือตรวจสภาพการเรียนรู้ของเด็กว่าขาดอะไร 2. ต้องมีการตรวจสุขภาพอนามัย และ 3. การตรวจสภาพจิตใจของนักเรียน เพราะวันนี้เราไม่รู้ว่าในช่วง 2 ปีกว่า กับภาวะความเครียด หรือภาวะสังคมมีการกดดันมีอะไรบ้าง ถ้าเรามีต้นทุน 3 อย่างนี้ เราก็จะได้ซ่อมเสริมได้ โดยระดับประถมจะเน้นในเรื่องอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ส่วนระดับมัธยม เราจะไปดูในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างเป้าหมายทางเลือกชีวิตให้เขาในการประกอบอาชีพ เมื่อรู้ว่าเขาจะไปทิศทางไหน ก็จะได้จัดการเรียนให้ตรงตามสิ่งที่เขาจะไป มันจะทำให้เขามีโอกาสเร็วขึ้นในการเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง
ประเด็นต่อมา คือ เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งเราไม่ได้ดูแต่ความปลอดภัยด้านโควิด ในส่วนของภัยอื่น ๆ ที่คุกคามนักเรียน ก็ยังมีปัญหาอยู่หลายอย่างเช่นกัน เพราะฉะนั้น ระบบดูแลความปลอดภัยของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรืออุบัติภัย ก็จะต้องมีมาตรการในการป้องกันเช่นเดียวกัน และเรื่องสุดท้าย เราพูดถึงเรื่องสถานีแก้หนี้ของคุณครู ซึ่งได้ให้หลักการไว้ว่า สถานีแก้หนี้ครู ต้องเป็นแหล่งสถานีที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานของคุณครูทุกคน ทั้งคุณครูที่มีหนี้ และไม่มีหนี้ โดยคุณครูที่ไม่มีหนี้ ทำไมเขาถึงไม่มีหนี้ เขาดำเนินชีวิตแบบไหน ก็จะเป็นแบบอย่างให้กับคนที่มีหนี้ได้ หากไม่อยากมีหนี้ต้องใช้ชีวิตอย่างไร หรือได้บทเรียนอย่างไร ส่วนกลุ่มที่มีหนี้ ทำไมถึงมีหนี้ มีปัญหาอะไร เกิดจากอะไร และกลุ่มที่มีหนี้ระดับรุนแรง อยู่ในระดับที่พอพึ่งตนเองได้ หรืออยู่ในระดับอะไร เราก็จะแก้ตามกลุ่มปัญหาและความเดือดร้อนจำเป็น รวมไปถึง การเติมความรู้ให้กับคุณครูบรรจุใหม่ ว่าเขาต้องวางแผนชีวิตอย่างไร ก็จะได้ช่วยลดปัญหา หรือทำให้ปัญหาหนี้สินครูลดน้อยลงได้
“สิ่งที่เน้นย้ำในช่วงนี้ คือ การรณรงค์ให้ฉีดวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ได้ฉีดแล้วเกินกว่า 98% แต่เด็กอายุ 5-11 ปี ได้ฉีดยังมีจำนวนที่น้อยมาก จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ เพราะขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ แต่ผู้ปกครองยังไม่กล้าให้เด็กนักเรียนฉีด วันนี้จึงได้เชิญคุณหมอมาให้ความรู้ว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เราจะไม่เอาการฉีดวัคซีนมาเป็นตัวกำหนดในการเข้าเรียน ซึ่งถ้าเปิดเรียนแบบ On-Site ก็จะต้องป้องกันด้วยการเว้นระยะห่าง และปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 อย่างเคร่งครัด เพราะวันนี้เราก็เปิดประเทศแล้ว ทุกอย่างกำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติ ในเดือนกรกฎาคมก็จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว สำหรับการเปิดเรียน On-Site เรามีโรงเรียนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ โรงเรียนที่ปีการศึกษาที่ผ่านมา ได้ยื่นขอเปิดเรียน On-Site แล้ว คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ก็อนุญาตแล้ว เราก็ให้ใช้วิธีประเมินตนเองอีกครั้งหนึ่ง แล้วรายงานให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดทราบ แต่ไม่ต้องขออนุมัติเปิดใหม่ เพราะเขาเปิดอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ โรงเรียนที่เคยขอเปิด และได้เปิด ต่อมา มีการระบาดและถูกสั่งระงับไป กลุ่มนี้ต้องทำการประเมินใหม่ และขอเปิดใหม่ กับอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่เคยขอเปิดเลย แต่จะเปิดใหม่ ก็ต้องประเมินตนเอง แล้วขออนุญาตไปใหม่ ซึ่งต้องให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม นี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว