นักวิจัย ม.ทักษิณ ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากต้นปาล์มน้ำมันเหลือทิ้ง
ปาล์มน้ำมัน (Oil palm) จัดเป็นพืชน้ำมันชนิดเดียวของโลก ที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่นทุกชนิด และปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลก เมื่อเทียบกับการผลิตน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ ทุกชนิด ซึ่งประเทศไทยอยู่ในลำดับ 3 ของโลก ที่สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้มากที่สุด รองจากอินโดนิเซีย และมาเลเซีย แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า เกษตรกรในบางพื้นที่ของประเทศ ประสบปัญหาการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นปาล์มที่มีขนาดลำต้นสูง ทำให้ ผศ.ดร.นันทรัตน์ พฤกษาพิทักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้คิดค้นงานวิจัย “การพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษที่มาจากต้นปาล์ม” โดยการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) เพื่อลดปริมาณขยะทางการเกษตร และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ผศ.ดร.นันทรัตน์ พฤกษาพิทักษ์ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษที่มาจากต้นปาล์มว่า กระดาษเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีบทบาทในชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยในอดีตผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการจดบันทึกเท่านั้น แต่ปัจจุบันประโยชน์ของกระดาษนั้นมาก เช่น การใช้ห่อของขวัญ ใช้ทำกล่อง ใช้เป็นกระดาษชำระ เป็นต้น โดยจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของกระดาษนั้นพบว่า วัสดุสำหรับผลิตกระดาษนั้นมีมากมาย เช่น ต้นกก เปลือกไม้ ต้นปอ เยื่อไม้ …